คำถามเกี่ยวกับคริสตจักร



คำถามเกี่ยวกับคริสตจักร





คำถามเกี่ยวกับคริสตจักร

คริสตจักรคืออะไร?




คำถาม: คริสตจักรคืออะไร?

คำตอบ:
มีคนหลายคนคิดว่าคริสตจักรคือตัวอาคาร แต่นี่ไม่ใช่ความหมายของคำว่าคริสตจักรตามแนวพระคัมภีร์ คำว่าคริสตจักรมาจากคำว่า “Ecclesia” ในภาษากรีก ซึ่งหมายความว่า “ที่ประชุม” หรือ “ผู้ที่ถูกเรียกออกมา” รากศัพท์ของคำว่า “คริสตจักร” ไม่ได้หมายถึงตัวอาคาร แต่หมายถึงผู้คน เมื่อท่านถามใครคนใดคนหนึ่งว่าเขาไปคริสตจักรไหน โดยปรกติเขาจะตอบว่า แบพติศ, เมโธดิสต์, หรือ นิกายอื่น ๆ ส่วนใหญ่เขาจะหมายถึงนิกายหรือตัวอาคาร หนังสือโรม 16:5 บอกว่า: “… และขอฝากความคิดถึงมายังคริสตจักรที่อยู่ในบ้านเขาด้วย…” ท่านเปโลพูดถึงคริสตจักรในบ้านของพวกเขา, ไม่ใช่ตัวอาคาร แต่เป็นกลุ่มผู้เชื่อ

คริสตจักรคือพระกายของพระคริสต์ หนังสือเอเฟซัส 1:22-23 กล่าวว่า “พระเจ้าได้ทรงปราบสิ่งสารพัดลงไว้ใต้พระบาทของพระคริสต์ และได้ทรงตั้งพระองค์ไว้เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัดแห่งคริสตจักรซึ่งเป็นพระกายของพระองค์ คือซึ่งเต็มบริบูรณ์ด้วยพระองค์ ผู้ทรงอยู่เต็มทุกอย่างทุกแห่งหน” พระกายของพระคริสต์ประกอบด้วยผู้เชื่อทุกคนตั้งแต่สมัยเพนเทคศเตจนถึงวันที่พระองค์จะเสด็จมารับเรา พระกายของพระคริสต์ประกอบด้วย:

(1) คริสตจักรสากลคือคริสตจักรที่ประกอบด้วยทุกคนที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเยซูคริสต์ 1 โครินธ์ 12:13 กล่าวว่า “เพราะว่าถึงเราจะเป็นพวกยิวหรือพวกต่างชาติ เป็นทาสหรือมิใช่ทาสก็ตาม เราทั้งหลายได้รับบัพติศมาโดยพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายอันเดียวกัน และพระวิญญาณองค์เดียวกันนั้นซาบซ่านอยู่” เราจะเห็นว่าใครก็ตามที่เชื่อคือส่วนหนึ่งของพระกายของพระคริสต์ คริสตจักรของพระเจ้าที่แท้จริงไม่ใช่อาคารหรือนิกายใดทั้งสิ้น คริสตจักรสากลของพระเจ้าคือผู้ที่ได้รับความรอดโดยทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์

(2) คริสตจักรท้องถิ่นซึ่งได้มีกล่าวไว้ในหนังสือกาลาเทีย 1:1-2 ว่า: “เปาโล ผู้เป็นอัครสาวก … และบรรดาพี่น้องที่อยู่กับข้าพเจ้า เรียน คริสตจักรทั้งหลายแห่งแคว้นกาลาเทีย” ตรงนี้เราจะเห็นว่ามีคริสตจักรหลายแห่งในเมืองกาลาเทีย – เราเรียกคริสตจักรเหล่านี้ว่าคริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรแบพติส, ลูเธอร์เร็น, คาทอลิก, ฯลฯ ไม่ใช่คริสตจักรดังเช่นคริสตจักรสากล - แต่เป็นคริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรสากลประกอบด้วยผู้ที่วางใจในพระคริสต์สำหรับความรอด คริสตจักรสากลเหล่านี้ควรแสวงหาความสัมพันธ์จากคริสตจักรท้องถิ่นและทำให้ตัวเองจำเริญขึ้น

สรุปว่า คริสตจักรไม่ใช่ตัวอาคารหรือคณะนิกาย ตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ คริสตจักรคือพระกายของพระคริสต์ – ทุกคนที่เชื่อในพระคริสต์สำหรับความรอด ( ยอห์น 3:16; 1 โครินธ์ 12:13) ผู้ที่ประกอบเป็นคริสตจักรสากล (พระกายของพระคริสต์) นมัสการพระเจ้าอยู่ตามคริสตจักรท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไป





คริสตจักรคืออะไร?

เป้าหมายของคริสตจักรคืออะไร?




คำถาม: เป้าหมายของคริสตจักรคืออะไร?

คำตอบ:
หนังสือกิจการ 2:42 น่าจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นข้อความที่แสดงวัตถุประสงค์ของคริสตจักร, “เขาทั้งหลายได้ขะมักเขม้นฟังคำสอนของจำพวกอัครสาวก และร่วมสามัคคีธรรม ทั้งขะมักเขม้นในการหักขนมปังและการอธิษฐาน” ดังนั้น ตามข้อพระคัมภีร์นี้ วัตถุประสงค์/กิจกรรมของคริสตจักรควรเป็น: 1) สอนคำสั่งสอนในพระคัมภีร์, 2) จัดหาสถานที่ให้ผู้เชื่อมีสามัคคีธรรมร่วมกัน, 3) ประกอบพิธีศีลมหาสนิท, และ 4) อธิษฐาน

คริสตจักรมีหน้าที่สอนหลักคำสอนในพระคัมภีร์เพื่อที่เราจะได้มีความเชื่อที่มีรากฐานมั่นคง หนังสือเอเฟซัส 4:14 1บอกว่า “เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไป ถูกซัดไปเซมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง” คริสตจักรจะต้องเป็นสถานที่สำหรับสามัคคีธรรม ที่คริสเตียนสามารถใช้เวลาให้กับซึ่งกันและกัน ให้เกียรติต่อกัน (โรม 12:10) สั่งสอนซึ่งกันและกัน (โรม 15:14) มีใจเมตตาสงสารกัน (เอเฟซัส 4:32) หนุนใจกัน (1 เธสะโลนิกา 5:11) และที่สำคัญที่สุดคือรักซึ่งกันและกัน (1 ยอห์น 3:11)

คริสตจักร คือสถานที่สำหรับผู้เชื่อที่จะมาเข้าพิธีศีลมหาสนิทร่วมกัน เพื่อระลึกถึงการวายพระชนม์ และการหลั่งพระโลหิตของพระคริสต์แทนเรา (1 โครินธ์ 11:23-26) แนวความคิดของการ “หักขนมปัง” (กิจการ 2:42) แสดง ถึงการรับประทานอาหารร่วมกัน นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการส่งเสริมให้มีสามัคคีธรรมของคริสตจักร วัตถุประสงค์สุดท้ายของคริสตจักรตามหนังสือกิจการ 2:42 คือการอธิษฐาน คริสตจักรควรเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมให้มีการอธิษฐาน, สอนเรื่องการอธิษฐาน. และฝึกการอธิษฐาน หนังสือฟีลิปปี 4:6-7 หนุนใจเราว่า “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้า ซึ่งเกินความเข้าใจทุกอย่าง จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์”

“คำสั่ง” อีกหนี่งคำสั่งสำหรับคริสตจักรก็คือให้ประกาศพระกิตติคุณแห่งความรอดโดยทางพระเยซูคริสต์ (มัทธิว 28:18-20; กิจการ 1:8) คริสตจักรถูกเรียกให้สัตย์ซื่อในการแบ่งปันพระกิตติคุณโดยคำพูดและการกระทำ คริสตจักรสมควรที่จะเป็น “ประภาคาร” ในชุมชน – ด้วยการนำผู้คนให้เข้ามาหาพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา คริสตจักรมีหน้าที่ทั้งประกาศพระกิตติคุณและเตรียมสมาชิกให้ประกาศพระกิตติคุณด้วย (1 Peter 3:15)

วัตถุประสงค์สุดท้าย ๆ บางข้อของคริสตจักรอยู่ในหนังสือยากอบ 1:27 “ธัมมะที่บริสุทธิ์ไร้มลทินต่อพระพักตร์พระเจ้าและพระบิดานั้น คือการเยื่ยมเยียนเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน และการรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก” คริสตจักรควรจะมีหน้าที่ดูแลผู้ที่มีความทุกข์ร้อน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การแบ่งปันพระกิตติคุณเท่านั้นแต่รวมถึงการดูแลความทุกข์ร้อนฝ่ายร่างกายด้วย (อาหาร. เครื่องนุ่งห่ม, ทีพักอาศัย) ตามความสมควรและความจำเป็น อีกทั้งคริสตจักรยังจะต้องมีหน้าที่เตรียมผู้เชื่อในพระคริสต์ให้พรักพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่พวกเขาต้องการเพื่อมีชัยชนะเหนือความบาปและรักษาความเป็นอิสระจากมลภาวะในโลก ทั้งหมดนี้สามารถทำได้โดยการใช้หลักการข้างต้น - นั่นคือการสอนพระคัมภีร์และการมีสามัคคีธรรมร่วมกันในหมู่คริสเตียน

ดังนั้น จากที่ได้พูดไปแล้วทั้งหมด วัตถุประสงค์ของคริสตจักรคืออะไร? ข้าพเจ้าชอบที่หนังสือ 1 โครินธ์ 12:12-27 เขียนไว้ คริสตจักรคือ “พระกาย” ของพระเจ้า – เราเป็นมือ เป็นปาก เป็นเท้าของพระองค์ในโลกนี้ เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำสิ่งที่พระเยซูคริสต์จะทรงกระทำหากพระองค์ทรงอยู่บนโลกนี้ คริสตจักรมีหน้าที่ที่จะต้องเป็น “คริสเตียน” – คือ “เหมือนพระคริสต์” และติดตามพระคริสต์





เป้าหมายของคริสตจักรคืออะไร?

อะไรคือความสำคัญของการรับบัพติศมาของคริสเตียน?




คำถาม: อะไรคือความสำคัญของการรับบัพติศมาของคริสเตียน?

คำตอบ:
ตามพระคัมภีร์ การรับบัพติศมาของคริสเตียนเป็นการแสดงออกภายนอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในชีวิตของผู้เชื่อ การรับศีลบัพติศมาของคริสเตียน แสดงให้เห็นถึงการเข้าส่วนของคริสเตียนในการวายพระชนม์ของพระคริสต์, การฝัง และ การฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ พระคัมภีร์บอกว่า “ท่านไม่รู้หรือว่า เราทั้งหลายที่ได้รับบัพติศมาเข้าในพระเยซูคริสต์ ก็ได้รับบัพติศมานั้นเข้าในความตายของพระองค์ เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยการรับบัพติศมาเข้าส่วนในความตายนั้น เหมือนกับที่พระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย โดยเดชพระรัศมีของพระบิดาอย่างไร เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยอย่างนั้น” (โรม 6:3-4) ในการเข้าพิธีบัพติศมาของคริสเตียน การจุ่มลงไปในน้ำจนมิดแสดงถึงการถูกฝังร่วมกับพระคริสต์ การขึ้นมาจากน้ำแสดงถึงการฟื้นคืนพระชนม์

ในการเข้าพิธีบัพติศมา ผู้เข้าพิธีควรมีคุณสมบัติสองอย่าง: (1) ผู้ที่จะเข้าพิธีบัพติศมาต้องเชื่อในพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเขา, และ (2) เขาจะต้องเข้าใจว่าพิธีบัพติศมาเล็งถึงอะไร หากเขารู้จักพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด, เข้าใจว่าการเข้าพิธีบัพติศมาของคริสเตียนคือการก้าวออกไปด้วยความเชื่อฟัง เพื่อประกาศความเชื่อในพระคริสต์และแสดงความปรารถนาในการเข้าพิธีบัพติศมาของเขาต่อหน้าผู้คน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมาห้ามผู้เชื่อไม่ให้รับบัพติศมา ตามที่พระคัมภีร์บอกไว้ การรับบัพติศมาของคริสเตียนคือการก้าวออกไปด้วยความเชื่อฟัง, การป่าวประกาศต่อหน้าผู้คนถึงความเชื่อของเขาในพระคริสต์แต่เพียงผู้เดียวสำหรับความรอดของเขา การรับบัพติศมาของคริสเตียนเป็นเรื่องสำคัญเพราะมันเป็นก้าวแห่งความเชื่อฟัง - เป็นการประกาศความเชื่อของเขาในพระคริสต์และเป็นการผูกมัดตัวเองไว้กับพระองค์, และเข้าส่วนกับการวายพระชนม์, ฝัง และฟื้นขึ้นมาร่วมกับพระองค์





อะไรคือความสำคัญของการรับบัพติศมาของคริสเตียน?

ทำไมการไปคริสตจักรจึงสำคัญ?




คำถาม: ทำไมการไปคริสตจักรจึงสำคัญ?

คำตอบ:
พระคัมภีร์บอกว่าเราจำเป็นที่จะต้องไปคริสตจักรเพื่อที่เราจะได้นมัสการพระเจ้ากับผู้เชื่อคนอื่น ๆ และฟังพระคำของพระองค์เพื่อจิตวิญญาณของเราจะได้จำเริญขึ้น (กิจการ 2:42; ฮีบรู 10:25) คริสตจักรคือสถานที่ที่ผู้เชื่อสามารถรักซึ่งกันและกันได้ (1 ยอห์น 4:12) หนุนใจซึ่งกันและกัน (ฮีบรู 3:13) “กระตุ้น” ซึ่งกันและกัน (ฮีบรู 10:24) ปรนนิบัติซึ่งกันและกัน (กาลาเทีย 5:13) สั่งสอนซึ่งกันและกัน (โรม 15:14) ให้เกียรติซึ่งกันและกัน (โรม 12:10) เมตตาต่อกันและมีใจเอ็นดูต่อกัน (เอเฟซัส 4:32)

เมี่อคน ๆ หนึ่งวางใจในพระเยซูคริสต์สำหรับความรอดของเขา เขาก็จะเป็นหนึ่งในพระกายของพระคริสต์ (1 โครินธ์ 12:27) การที่คริสตจักรจะทำงานได้อย่างปกติ “อวัยวะ” ทุกส่วนจะต้องอยู่ครบ (1 โครินธ์ 12:14-20) ในทำนองเดียวกัน ผู้เชื่อจะไม่มีวันโตฝ่ายวิญญาณได้เต็มที่โดยปราศจากความช่วยเหลือและการหนุนใจจากสมาชิกคนอื่น ๆ (1 โครินธ์ 12:21-26) ดังนั้นจากเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้การไปคริสตจักร, การมีส่วนร่วมในคริสตจักร และการมีสามัคคีธรรมควรเป็นสิ่งที่ผู้เชื่อปฏิบัติเป็นประจำ การไปคริสตจักรทุกอาทิตย์ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ผู้เชื่อจะต้องทำ แต่คนที่วางใจในพระคริสต์ควรอยากไปนมัสการพระองค์, อยากฟังพระวจนะ และมีสามัคคีธรรมกับผู้เชื่อคนอื่น ๆด้วย





ทำไมการไปคริสตจักรจึงสำคัญ?

อะไรคือความสำคัญของพิธีศีลมหาสนิทของคริสเตียน?




คำถาม: อะไรคือความสำคัญของพิธีศีลมหาสนิทของคริสเตียน?

คำตอบ:
การศึกษาเกี่ยวกับพิธีศีลมหาสนิทเป็นเรื่องปลุกเร้าจิตวิญญาณเพราะความหมายอันลึกซึ้งของพิธีนี้ มันเป็นตอนที่มีการเฉลิมฉลองพิธีปัสกาอันเป็นพิธีที่ถือปฏิบัติต่อเนื่องมาช้านาน ก่อนวันที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงวายพระชนม์ ที่พระองค์ได้ทรงสถาปนาการมีการสามัคคีธรรมชนิดใหม่ที่สำคัญด้วยการรับประทานอาหารร่วมกันขึ้นมา ซึ่งเป็นพิธีที่เราถือปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบัน พิธีนี้เป็นการแสดงออกสูงสุดของการนมัสการของคริสเตียน มันเป็น “คำเทศนาภาคปฏิบัติ” อันเป็นการระลึกถึงการวายพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา และเป็นการมองไปยังอนาคตถึงการเสด็จกลับมาที่เต็มไปด้วยพระสิริของพระองค์

พิธีปัสกาเป็นพิธีเลี้ยงฉลองที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปีในศาสนาของชาวยิว มันเป็นการระลึกถึงโรคระบาดสุดท้ายที่เกิดขึ้นเหนือคนอียิปต์เมื่อบุตรหัวปีของคนอียิปต์ต้องเสียชีวิต แต่บุตรหัวปีของคนอิสราเอลรอดพ้นจากความตาย อันเนื่องมาจากการประพรมเลือดแกะไว้ที่ประตู แล้วพวกเขาก็เอาแกะนั้นมาย่างและรับประทานพร้อมกับขนมปังไร้เชื้อ คำสั่งของพระเจ้าคือให้คนทุกยุคทุกสมัยเฉลิมฉลองพิธีนี้ตลอดไป เรื่องทั้งหมดนี้ได้มีบันทึกไว้ในหนังสืออพยพบทที่ 12

ในระหว่างการเฉลิมฉลอง พระเยซูทรงร้องเพลงสดุดีร่วมกับสาวกหนึ่งเพลงหรือมากกว่า (สดุดี 111 – 118) ต่อจากนั้นพระองค์ทรงหยิบขนมปัง ครั้นขอบพระคุณแล้ว จึงทรงหักแล้วตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา ซึ่งหักออกเพื่อท่านทั้งหลาย” เมื่อรับประทานแล้ว พระองค์จึงทรงหยิบถ้วยด้วยอาการอย่างเดียวกัน และหลังจากที่พระองค์ทรงดื่ม ทรงยื่นถ้วยให้กับพวกเขา, เขาทั้งหลายก็รับไปดื่ม พระองค์ตรัสว่า “ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ด้วยโลหิตของเรา เมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด จงดื่มให้เป็นที่ระลึกถึงเรา” พระองค์ทรงจบพิธีด้วยการร้องเพลงสรรเสริญ แล้วพวกเขาก็ออกไปในคืนนั้นเพื่อไปที่ภูเขามะกอกเทศ ที่นั่นเองที่พระเยซูทรงถูกทรยศโดยยูดาสตามที่ได้มีพยากรณ์ไว้ ในวันถัดมาพระองค์ก็ทรงถูกตรึงบนกางเขน

เรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าได้มีบันทึกไว้ในหนังสือพระกิตติคุณ มัทธิว 26:26-29, มาระโก 14:17-25, ลูกา 22:7-22, และยอห์น 13:21-30 อัครทูตเปาโลได้เขียนเกี่ยวกับพิธีเลี้ยงครั้งสุดท้ายของพระเยซูโดยการเปิดเผยสำแดงที่ได้รับการดลใจไว้ในหนังสือ 1 โครินธ์ 11:23-29 (เพราะแน่นอนว่าท่านเปาโลไม่ได้อยู่ที่ห้องชั้นบนด้วยในตอนนั้น) ท่านเปาโลได้เขียนต่อท้ายไว้ว่า “เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดกินขนมปัง หรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ผู้นั้นก็ทำผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเอง แล้วจึงกินขนมปังและดื่มจากถ้วยนี้ เพราะว่าคนที่กินและดื่มโดยมิได้เล็งเห็นพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็กินและดื่มเป็นเหตุให้ตนเองถูกพิพากษาโทษ” (11:27-29) เราอาจจะถามว่าการกินและดื่ม “อย่างไม่สมควร” หมายความว่าอย่างไร คำตอบคือมันอาจหมายความว่าเราไม่ได้สนใจความหมายที่แท้จริงของขนมปังและน้ำองุ่น และลืมคิดไปถึงราคาอันหาค่าไม่ได้ที่องค์พระผู้ช่วยให้รอดได้ทรงจ่ายไปเพื่อความรอดของเรา หรือมันอาจหมายความว่าเราปล่อยให้พิธีนี้กลายเป็นพิธีที่ตายแล้วหรือเป็นพิธีกรรมอย่างเป็นทางการ หรือเราเข้ามาที่โต๊ะเสวยโดยไม่ได้สารภาพบาปเสียก่อน หากเราจะทำตามคำแนะนำของท่านเปาโล แต่ละคนควรพิจารณาตัวเองก่อนที่จะรับประทานขนมปังและดื่มจากถ้วยอย่างใส่ใจในคำเตือน คำต่อท้ายนี้ไม่ได้มีบันทึกไว้ในหนังสือพระกิตติคุณ

อีกข้อความหนึ่งที่ท่านเปาโลได้เขียนไว้ซึ่งไม่มีในหนังสือพระกิตติคุณ คือ “เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (11:26) ข้อความนี้เป็นการกำหนดขีดจำกัดของพิธี – จนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจะเสด็จมา จากข้อความสั้น ๆ นี้ เราได้เรียนรู้ว่าพระเยซูได้ทรงใช้สิ่งที่เล็กน้อยที่สุดเป็นสัญลักษณ์ของพระกายและพระโลหิตของพระองค์ และทรงทำให้มันเป็นอนุสาวรีย์สำหรับการวายพระชนม์ของพระองค์ ไม่ใช่อนุสาวรีย์ที่แกะสลักด้วยหินอ่อนหรือรูปหล่อทองเหลือง แต่เป็นแค่ขนมปังและน้ำองุ่น

พระองค์ทรงประกาศว่าขนมปังเล็งถึงพระกายของพระองค์ซึ่งจะต้องแตกหัก – ไม่มีกระดูกที่แตกหัก แต่พระกายของพระองค์ต้องแตกหักเสียหายมากมายเสียจนแทบจะจำไม่ได้ (สดุดี 22:12-17, อิสยาห์ 53:4-7) น้ำองุ่นเล็งถึงพระโลหิตของพระองค์ มันบ่งชี้ถึงการสิ้นพระชนม์ที่โหดร้ายที่พระองค์จะได้รับในไม่ช้า พระองค์ - พระบุตรผู้ไร้ตำหนิของพระเจ้า - ทรงทำให้คำพยากรณ์ที่มีปรากฏอยู่ในพันธสัญญาเดิมหลายครั้งจนนับไม่ถ้วนเกี่ยวกับพระผู้ไถ่ (ปฐมกาล 3:15, สดุดี 22, อิสยาห์ 53, ฯลฯ) สำเร็จลง เมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงทำเช่นนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรา” มันเป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือพิธีที่จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นมันยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพิธีปัสกา - ซึ่งต้องใช้แกะที่ตายแล้วและเล็งไปข้างหน้า ถึงพระเมษโปดกของพระเจ้าผู้ที่จะเสด็จมาเอาความบาปออกไปจากโลก - เก่าพ้นสมัยไปแล้ว พันธสัญญาใหม่ได้เข้ามาแทนที่เมื่อพระคริสต์ – แกะปัสกา - (1 โครินธ์ 5:7) ได้ถูกนำมาเป็นเครื่องถวายบูชา (ฮีบรู 8:8-13) ระบบการถวาบบูชาจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป (ฮีบรู 9:25-28)





อะไรคือความสำคัญของพิธีศีลมหาสนิทของคริสเตียน?

การเป็นคริสเตียนคืออะไร และ คริสเตียนเชื่ออะไร?




คำถาม: การเป็นคริสเตียนคืออะไร และ คริสเตียนเชื่ออะไร?

คำตอบ:
ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 15:1-4 กล่าวว่า “ยิ่งกว่านี้ พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอให้ท่านคำนึงถึงข่าวประเสริฐที่ข้าพเจ้าเคยประกาศแก่ท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านได้ยอมรับไว้ อันเป็นฐานซึ่งท่านทั้งหลายตั้งมั่นอยู่ และซึ่งทำให้ท่านรอดด้วย ถ้าท่านยึดหลักคำสอนที่ข้าพเจ้าได้ประกาศไว้แก่ท่านทั้งหลายนั้น เว้นเสียแต่ท่านได้เชื่ออย่างไร้ประโยชน์ เรื่องซึ่งข้าพเจ้ารับไว้นั้น ข้าพเจ้าได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลายก่อน คือว่าพระคริสต์ได้ทรงวายพระชนม์เพราะบาปของเราทั้งหลาย ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงเป็นขึ้นมาใหม่ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้น”

ในการตอบสั้น ๆ นั่นคือความเชื่อแบบคริสเตียน ความเชื่อแบบคริสเตียนมีเอกลักษณ์แตกต่างจากความเชื่ออื่น ๆ เพราะความเชื่อแบบคริสเตียนเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ มากกว่าการมีพิธีกรรมทางศาสนา แทนที่จะเป็นการทำตามรายการ “จงละเว้นนั่้น อย่าละเว้นนี่” เป้าหมายของคริสเตียนคือการเข้าสนิทกับพระเจ้าพระบิดาทีละเล็กละน้อย ความสัมพันธ์นี้เป็นไปได้เพราะการกระทำของพระเยซูคริสต์ และการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในชีวิตของคริสเตียน

คริสเตียนเชื่อว่าพระคัมภีร์ได้รับการดลใจ และเป็นพระวจนะของพระเจ้าที่ไม่มีข้่อผิดพลาด และคำสอนจากพระคัมภีร์คือสิทธิอำนาจสูงสุด (2 ทิโมธี 3:16, 2 เปโตร 1:20-21) คริสเตียนเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียวในสามพระภาค คือ พระบิดา พระบุตร (พระเยซูคริสต์) และ พระวิญญาณบริสุทธิ์

คริสเตียนเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่ความบาปมาแยกมนุษย์ออกจากพระองค์ (โรม 5:12, โรม 3:23) ความเชื่อแบบคริสเตียนสอนว่า พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินอยู่ท่ามกลางเรา ทรงเป็นทั้งมนุษย์และพระเจ้า( ฟีลิปปี 2:6-11) และทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน คริสเตียนเชื่อว่าหลังจากที่ได้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้การเขนแล้ว ทรงถูกนำไปฝัง แล้วทรงฟื้นคืนพระชนม์ และเดี๋ยวนี้ทรงประทับอยู่ ณ เบื้องขวาของพระบิดา ทรงอธิษฐานวิงวอนเพื่อผู้เชื่อทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ (ฮีบรู 9:11-14, ฮีบรู 10:10, โรม 6:23, โรม 5:8).

เพื่อเราจะได้รับความรอด เราต้องเชื่ออย่างง่าย ๆ ในสิ่งที่พระคริสต์ได้ทำสำเร็จลงบนไม้กางเขน หากใครคนใดคนหนึ่งเชื่อว่าพระคริสต์สิ้นพระชนม์แทนเขาเพื่อไถ่บาปให้กับเขา แล้วทรงฟื้นคืนพระชนม์ เท่านั้นเอง คน ๆ นั้นก็จะได้รับความรอด ไม่มีอะไรที่ใครจะทำได้เพื่อที่จะได้รับความรอด ไม่มีใีคร “ดีพอ” โดยตัวเองที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย เพราะเราทุกคนเป็นคนบาป (อิสยาห์ 64: 6-7, อิสยาห์ 53:6) ประการที่สอง คือ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะต้องทำ เพราะพระคริสต์ได้ทรงกระทำทั้งหมดไปแล้ว! เืมื่อทรงถูกตรึงอยู่บนการเขน พระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” (ยอห์น 19:30)

เช่นเดียวกับที่ไม่มีอะไรที่ใครสามารถจะทำได้เพื่อที่จะได้รับความรอด เมื่อคน ๆ นั้นเชื่อในสิ่งที่พระคริสต์ได้ทำลงไปบนไม้กางเขน ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาสูญเสียความรอดไปได้ จงจำไว้ว่าหน้าที่นั้นพระคริสต์เป็นผู้ทรงทำและได้ทำสำเร็จไปแล้ว! ไม่มีอะไรเกี่ยวกับความรอดที่ผู้รับจะต้องทำเืพื่อที่จะได้มาซื่งความรอดนั้น! ข้อพระคัมภีร์ยอห์น 10:27-29 กล่าวว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา และเรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะนั้นตามเรา เราให้ชีวิตนิรันดร์แก่แกะนั้น และแกะนั้นจะไม่พินาศเลย และจะไม่มีผู้ใดแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากมือของเราได้ พระบิดาของเราผู้ประทานแกะนั้นให้แก่เราเป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง และไม่มีผู้ใดสามารถชิงแกะนั้นไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาของเราได้”

บางคนอาจจะคิดว่า “ดีจังเลย -- พอฉันได้รับความรอดปุ๊บ ฉันก็จะสามารถทำอะไรก็ได้ตามความพอใจโดยไม่ต้องสูญเสียความรอดเสียด้วย!” แต่ความรอดไม่ใช่การเป็นอิสระเพื่อที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ความรอดคือความเป็นอิสระจากธรรมชาติบาปเก่า ๆ และความเป็นอิสระในการมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า ตราบเท่าที่ผู้เชื่อยังคงมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ในกายบาป เขาก็ยังจะต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะความบาปอยู่นั่นเอง การมีชีวิตอยู่ในความบาปเป็นการขวางความสัมพันธ์ที่พระเ้จ้าทรงต้องการที่จะมีกับมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม คริสเตียนสามารถเอาชนะความบาปได้โดยการนำพระวจนะ (พระคัมภีร์) มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และอยู่ภายใต้การควบคุมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ -- นั่นคือการยอมจำนนต่อการทรงนำของพระวิญญาณในทุกสถานการณ์ ทุกวัน และเชื่อฟังพระวจนะโดยผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์

ดังนั้น ในขณะที่ศาสนาหลายศาสนาสอนให้ผู้เชื่อปฏิบัติบางอย่าง ละเว้นการปฏิบัติบางอย่าง การเป็นคริสเตียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า การเป็นคริสเตียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไุ่ถ่บาปให้คุณ หลังจากนั้นทรงฟื้นคืนพระชนม์ คุณหมดหนี้บาปแล้วและสามารถมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้ คุณมีชัยชนะเหนือธรรมชาติบาปของคุณ และสามารถมีความสัมพันธ์และเชื่อฟังพระเจ้าได้ นี่คือการเป็นคริสเตียนตามนิยามในพระคัมภีร์ที่แท้จริง.





การเป็นคริสเตียนคืออะไร และ คริสเตียนเชื่ออะไร?

ผู้หญิงควรเป็นศิษยาภิบาล/นักเทศน์ไหม? พระคัมภีร์พูดถึงผู้หญิงที่ทำพันธกิจว่าอย่างไร?




คำถาม: ผู้หญิงควรเป็นศิษยาภิบาล/นักเทศน์ไหม? พระคัมภีร์พูดถึงผู้หญิงที่ทำพันธกิจว่าอย่างไร?

คำตอบ:
ในปัจจุบันคงไม่มีเรื่องใดที่มีการถกกันในคริสตจักรมากกว่าเรื่องผู้หญิงที่รับใช้ในฐานะศิษยาภิบาล/นักเทศน์ ดังนั้นการไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการแข่งขันกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายจึงเป็นเรื่องสำคัญ มีผู้หญิงหลายคนเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรรับใช้ในฐานะศิษยาภิบาลและพระคัมภีร์ก็มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องพันธกิจของผู้หญิง - และมีผู้ชายหลายคนเชื่อว่าผู้หญิงรับใช้ในฐานะนักเทศน์ได้และไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับงานรับใช้ของผู้หญิง นี่ไม่ใช่เรื่องการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือการเลือกที่รักมักที่ชัง แต่เป็นเรื่องของการตีความหมายในพระคัมภีร์

ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-12 กล่าวว่า “ให้ผู้หญิงเรียนอย่างเงียบๆและด้วยใจนอบน้อมทุกอย่าง ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสั่งสอนหรือใช้อำนาจเหนือผู้ชาย แต่ให้เขานิ่งๆอยู่” ในคริสตจักรพระเจ้าทรงกำหนดบทบาทให้กับผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน นี่เป็นผลจากวิธีการทรงสร้างมนุษย์ (1 ทิโมธี 2:13) และวิธีที่ความบาปที่เข้ามาในโลก (2 ทิโมธี 2:14) โดยการดลใจจากพระเจ้าอัครสาวกเปาโลไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิอำนาจในการสอนฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย ข้อห้ามนี้ทำให้ข้อสงสัยเกี่ยวกับการเป็นเป็นศิษยาภิบาลของผู้หญิง ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการเทศนา, สั่งสอน และการมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชายหมดไป

มี “ข้อโต้แย้ง” มากมายต่อมุมมองเกี่ยวกับพันธกิจของผู้หญิง/ศิษยาภิบาลหญิง ข้อที่เป็นที่รู้จักกันดีโต้ว่าการที่ท่านอาจารย์เปาโลห้ามผู้หญิงไม่ให้สอนก็เพราะว่าในศตวรรษแรกนั้นผู้หญิงไม่มีการศึกษา แต่ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-14 ไม่ได้พูดถึงเรื่องการศึกษาเลย หากการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ในพันธกิจ สาวกของพระเยซูส่วนใหญ่คงไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ข้อโต้แย้งประการที่สองที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่นกันดีโต้ว่าท่านอาจารย์เปาโลห้ามผู้หญิงในเมืองเอเฟซัสเท่านั้นไม่ให้สอน (1 ทิโมธี เป็นจดหมายที่ท่านเขียนถึงทิโมธีผู้เป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรแห่งเมืองเอเฟซัส) เมืองเอเฟซัสเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีวิหารของเทพีอาร์เตมิส (เทพเทียมเท็จของกรีก/ โรมัน) ตั้งอยู่ และผู้หญิงเป็นผู้นำในการนมัสการเทพีอาร์เตมิส แต่หนังสือ 1 ทิโมธีไม่ได้พูดถึงเทพีอาร์เตมิสเลย และท่านอาจารย์เปาโลก็ไม่ได้พูดว่าการนมัสการเทพีอาร์เตมิสคือเหตุผลสำหรับข้อห้ามในหนังสือ 1 ทิโมธี 2:11-12

ข้อโต้แย้งประการที่สามที่เป็นที่รู้จักกันดีอีกข้อหนึ่งโต้ว่า ท่านอาจารย์เปาโลพูดถึงสามีและภรรยาเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิง รากศัพท์ภาษากรีกที่ใช้ในหนังสือ 1 ทิโมธี 2:11-14 อาจหมายถึงสามีและภรรยาก็ได้ แต่ความหมายพื้นฐานหมายถึงผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนั้นคำ ๆ เดียวกันในภาษากรีกถูกนำมาใช้ในข้อ 8-10 ด้วย สามีเท่านั้นหรือที่ได้รับอนุญาตให้ยกมืออันบริสุทธิ์ปราศจากโทโสและการเถียงกันเพื่ออธิษฐาน (ข้อ 8)? และภรรยาเท่านั้นหรือที่ถูกกำหนดให้แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย, ประดับด้วยการกระทำดี และนมัสการพระเจ้า (ข้อ 9-10)? ไม่ใช่แน่นอน พระคัมภีร์ข้อ 8-10 เขียนว่าผู้ชายและผู้หญิง ไม่ใช่สามีและภรรยา ดังนั้น ในบริบทนี้จึงไม่ได้มีอะไรที่ชี้ให้เห็นเลยว่ามีการเปลี่ยนจากการใช้คำว่าผู้ชายและผู้หญิงมาเป็นสามีและภรรยาในข้อ 11-14

ข้อโต้แย้งที่ได้ยินบ่อย ๆ อีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับ ศิษยาภิบาลหญิง/นักเทศน์หญิง เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ มิเรียม, เดโบราห์. ฮัลดาห์, ปริสสิลลา, เฟบี, ฯลฯ ผู้ซึ่งมีตำแหน่งผู้นำในพระคัมภีร์ ข้อโต้แย้งนี้ไม่ได้มองถึงความจริงที่สำคัญบางประการ คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับเดโบราห์ เธอเป็นผู้วินิจฉัยหญิงคนเดียวในหมู่ผู้วินิจฉัยชาย 13 คน ในส่วนที่เกี่ยวกับฮัลดาห์ เธอเป็นผู้เผยวจนะหญิงคนเดียวท่ามกลางผู้เผยวจนะชายมากมายที่พระคัมภีร์กล่าวถึง ส่วนมิเรียม เธอเกี่ยวข้องในฐานะผู้นำเพราะเป็นพี่สาวของโมเสสและอาโรน ผู้หญิงอีกสองคนที่โดดเด่นในสมัยพงศ์กษัตริย์คืออาธาลิยาห์ และ เยซาเบล แต่ทั้งสองคนก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างของผู้นำหญิงของพระเจ้าเลย

ในหนังสือกิจการบทที่ 18 ปริสสิลลากับอาควิลลา ถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระคริสต์ ชื่อของปริสสิลลาถูกเอ่ยถึงก่อน (ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษ) ซึ่งหมายความว่างานรับใช้ของเธอคง “เด่น” กว่าของสามี แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกไว้เลยว่าปริสสิลลารับใช้แย้งกับที่ข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-14 กล่าวไว้ ปริสสิลลากับอาควิลลาเป็นคนที่รับอปอลโลมาที่บ้าน เพื่อสั่งสอนให้เขารู้ทางของพระเจ้าให้ถูกต้องยิ่งขึ้น(กิจการ18:26)

ในหนังสือโรม 16:1 แม้ว่าเฟบีจะถูกเรียกว่าเป็น “มัคนายก” ไม่ใช่ “ผู้รับใช้” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นผู้สอนในคริสตจักร “สามารถสอนได้” เป็นคุณสมบัติของผู้ปกครอง ไม่ใช่มัคนายก (1 ทิโมธี 3:1-13; ทิตัส 1:6-9) ผู้ปกครอง/พระ/มัคนายกถูกบันทึกว่าต้อง “เป็นสามีของหญิงคนเดียว” “บังคับบัญชาบุตรทั้งหลายของตนได้” “เป็นที่เคารพ” นอกจากนั้น ในหนังสือ 1 ทิโมธี 3:1-13 และ ทิตัส 1-6-9 ศัพนามที่ใช้แทนเพศชายถูกนำมาเรียกผู้ปกครอง/พระ/มัคนายก

โครงสร้างของข้อพระคัมภีร์ 1 ทิโมธี 2:11-14 แสดง “เหตุผล” ชัดเจน ข้อ 13 เริ่มต้นด้วยคำว่า “ด้วยว่า” แล้วยก “สาเหตุ” ที่ท่านอาจารย์เปาโลกล่าวไว้ในข้อ 11-12 ว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่ควรสอนหรือมีสิทธิอำนาจเหนือผู้ชาย นั่นคือ “พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างอาดัมก่อน แล้วจึงทรงสร้างเอวา และอาดัมไม่ได้ถูกหลอกลวง แต่ผู้หญิงนั้นได้ถูกหลอกลวง” นี่คือเหตุผล พระเจ้าทรงสร้างอาดัมก่อนแล้วจึงทรงสร้างเอวาให้เป็น “ผู้ช่วย” อาดัม ขั้นตอนในการทรงสร้างมีผลมาถึงโครงสร้างของครอบครัว (เอเฟซัส 5:22-23) และคริสตจักรด้วย ความจริงที่ว่าเอวาถูกหลอก ลวง ก็เป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่ควรเป็นศิษยาภิบาลหรือมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย นี่จึงทำให้คนบางคนเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรสอนเพราะพวกเขาถูกหลอกง่าย แนวความคิดนี้สามารถนำมาถกได้ … นั่นคือ … ถ้าผู้หญิงถูกหลอกง่ายจริง ๆ แล้ว ทำไมผู้หญิงจึงได้รับอนุญาตให้สอนเด็ก ๆ (ผู้ซึ่งถูกหลอกง่ายเหมือนกัน) และผู้หญิงด้วยกันเอง (ผู้ซึ่งถูกทึกทักว่าถูกหลอกง่าย) … แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์หมายถึง ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้สอนหรือมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชายเพราะเอวาถูกหลอกลวง ดังนั้นพระเจ้าจึงทรงมอบสิทธิอำนาจเบื้องต้นในการสอนในคริสตจักรให้กับผู้ชาย

ผู้หญิงมีของประทานโดดเด่นทางด้านการให้การรับรอง, ความเมตตา, การสอนและการให้ความช่วยเหลือ พันธกิจหลายอย่างในคริสตจักรต้องพึ่งผู้หญิง ผู้หญิงไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้อธิษฐานหรือเผยพระวจนะในที่สาธารณะ (1 โครินธ์ 11:5) เพียงแต่ถูกห้ามไม่ให้มีสิทธิอำนาจในการสอนฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่ห้ามผู้หญิงไม่ให้ใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (1 โครินธ์บทที่ 12) ทั้งผู้หญิงและผู้ชายถูกเรียกให้รับใช้ผู้อื่น, ให้แสดงผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กาลาเทีย 5:22-23) และให้ประกาศข่าวประเสริฐต่อผู้ที่หลงหาย (มัทธิว 28:18-20; กิจการ 1:8; 1 เปโตร 3:15).

พระเจ้าทรงกำหนดไว้ว่าให้ผู้ชายเท่านั้นรับใช้ในตำแหน่งเกี่ยวกับการสอนฝ่ายวิญญาณในคริสตจักร นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายสอนได้ดีกว่าผู้หญิง หรือเพราะว่าผู้หญิงด้อยกว่าหรือฉลาดน้อยกว่าผู้ชาย (ซึ่งไม่ใช่) แต่เพระเจ้าทรงวางรูปแบบคริสตจักรไว้แบบนั้น ผู้ชายจะต้องเป็นตัวอย่างของผู้นำฝ่ายวิญญาณ – ทั้งในชีวิตและในคำพูด – ผู้หญิงจะต้องมีบทบาทในการเป็นผู้นำน้อยกว่า ผู้หญิงได้รับการหนุนใจให้สอนผู้หญิงด้วยกัน (ทิตัส 2:3-5) และพระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามผู้หญิงไม่ให้สอนเด็ก ๆ สิ่งเดียวทีผู้หญิงมีข้อจำกัดคือการสอนหรือการมีสิทธิอำนาจฝ่ายวิญญาณเหนือผู้ชาย ดังนั้นข้อจำกัดนี้จึงรวมถึงการรับใช้ในฐานะศิษยาภิบาล/นักเทศน์ของผู้หญิงด้วย นี่ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงมีความสำคัญน้อยไปกว่าผู้ชาย แต่เป็นการช่วยให้ผู้หญิงได้ทำพันธกิจที่เหมาะสมกับของประทานของพวกเขานั่นเอง





ผู้หญิงควรเป็นศิษยาภิบาล/นักเทศน์ไหม? พระคัมภีร์พูดถึงผู้หญิงที่ทำพันธกิจว่าอย่างไร?

ทำไมฉันจึงต้องเชื่อในศาสนาองค์กร?




คำถาม: ทำไมฉันจึงต้องเชื่อในศาสนาองค์กร?

คำตอบ:
พจนานุกรมให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ “ศาสนา” ว่าเป็น - “ความเชื่อในพระเจ้าหรือพระต่าง ๆ เพื่อกราบไหว้, โดยปกติด้วยการแสดงออกผ่านทางพิธีกรรม, รูปแบบของความเชื่อ, การนมัสการที่เจาะจง, ฯลฯ, บ่อยครั้งจะเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ทางด้านจริยศาสตร์” หากดูจากคำจำกัดความนี้ พระคัมภีร์ก็ได้พูดเกี่ยวกับศาสนาองค์กรจริง ๆ และในหลายกรณี วัตถุประสงค์และผลกระทบของ “ศาสนาองค์กร” ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าทรงพอพระทัย ตัวอย่างข้างล่างนี้คือตัวอย่างสองสามตัวอย่างที่พูดเกี่ยวกับศาสนาองค์กร

ปฐมกาล 11:1-9: คิดว่าตอนนี้คงเป็นเหตุการณ์แรกที่เกี่ยวกับศาสนาองค์กรนั่นคือตอนที่ลูกหลานของโนอาห์รวมตัวกันอย่างมีระบบระเบียบเพื่อที่จะสร้างหอคอยขึ้นมาโดยเชื่อว่าหากพวกเขาสามารถสร้างมันให้สูงพอพวกเขาก็จะปลอดภัย พวกเขาเชื่อว่าการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสำคัญกว่าการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ดังนั้นพระเจ้าจึงทรงก้าวเข้าขัดขวางแล้วทำให้ภาษาของพวกเขาสับสน ด้วยเหตุนี้ศาสนานี้จึงแตกกระจายไป

อพยพบทที่ 6 และ อื่น ๆ: พระเจ้าทรงให้สัญญาหลายอย่างกับอับราม (อับราฮัม) เกี่ยวกับความสัมพันธ์พิเศษระหว่างลูกหลานของเขาและพระเจ้า แต่อย่างไรก็ตามเราได้เห็นว่านี่เป็น “การจัดรูปแบบ” ให้กับคนอิสราเอล โดยเริ่มตั้งแต่อพยพไปจนตลอดประวัติศาสตร์ของคนอิสราเอล บัญญัติสิบประการ, พลับเพลา, ระบบถวายบูชา, ฯลฯ ถูกจัดรูปแบบขึ้นโดยพระเจ้าเพื่อให้คนอิสราเอลปฏิบัติตาม จากการศึกษาพันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์อธิบายว่าผลของศาสนานี้ก็เพื่อนำผู้ติดตามให้มาถึงพระคริสต์ (กาลาเทีย 3; โรม 7) แต่หลายคนเข้าใจผิดและได้นมัสการพิธีกรรมแทนที่จะนมัสการพระเจ้าผู้ทรงเที่ยงแท้

ผู้วินิจฉัยและอื่น ๆ: การขัดแย้งส่วนใหญ่ในหมู่คนอิสราเอลเป็นการขัดแย้งเกี่ยวกับศาสนาองค์กร ดังตัวอย่างรวมถึง: พระบาอัล ((ผู้วินิจฉัย 6; 1 พงศ์กษัตริย์ 18); พระดาโกน (1 ซามูเอล 5); พระโมเลค (2 พงศ์กษัตริย์ 23:10) พระเจ้าทรงใช้ศาสนาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงฤทธิอำนาจของพระองค์โดยการทรงมีชัยชนะเหนือพวกมัน

พระกิตติคุณ: พวกฟาริสีและสะดูสี เป็นตัวแทนของศาสนาองค์กรในสมัยของพระคริสต์ พระเยซูทรงเผชิญหน้ากับพวกเขาบ่อยครั้งเกี่ยวกับคำสอนที่ผิด ๆ และชีวิตที่หน้าไหว้หลังหลอกของพวกเขา มีหลายคนเปลี่ยนใจและออกจากศาสนาองค์กรนี้ - ท่านเปาโลคือตัวอย่าง

จดหมายฝาก: มีกลุ่มองค์กรหลายกลุ่มที่เอาพระกิตติคุณมาผสมผสานกับสิ่งที่ต้องปฏิบัติ กลุ่มเหล่านี้ก็เช่นกันได้กดดันผู้เชื่อให้เปลี่ยนใจและยอมรับศาสนาใหม่นี้ หนังสือกาลาเทียและโคโลสีได้เขียนเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้

วิวรณ์: ในยุคสุดท้าย ศาสนาองค์กรจะมีผลกระทบมากในโลก เมื่อผู้ที่ต่อต้านพระคริสต์จะจัดตั้งศาสนาเดียวในโลกขึ้นมาให้คนนับถือ

ส่วนใหญ่วัตถุประสงค์ของ “ศาสนาองค์กร” คือการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนให้ออกห่างจากพระประสงค์ของพระเจ้า แต่พระคัมภีร์ได้พูดเกี่ยวกับ คริสตชนองค์กร (ผู้เชื่อ) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระองค์ พระองค์ทรงเรียกพวกเขาว่าคริสตจักร หนังสือกิจการและจดหมายฝาก ได้อธิบายทิศทางว่าคริสตจักรควรมีระบบระเบียบ และต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างไร

ในกรณีนี้เราควรเรียกระบบนี้ว่าเป็น “องค์กรแห่งความสัมพันธ์” จะดีกว่า ไม่มีแผนการใดที่จะนำเราไปถึงพระเจ้าได้ (พระองค์จะต้องเป็นผู้นำเราเข้าไปหาพระองค์) ไม่มีความหยิ่ง (ทุกอย่างคือพระคุณ) มันไม่ควรจะมีการต่อล้อต่อเถียงกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้ (พระเจ้าทรงเป็นศีรษะของกาย - โคโลสี 1:18) มันไม่ควรจะมีอคติ (เราทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสต์ – กาลาเทีย 3:28) การถูกจัดระเบียบไม่ใช่ปัญหา แต่การติดตามศาสนาคือปัญหาแน่นอน





ทำไมฉันจึงต้องเชื่อในศาสนาองค์กร?

คริสเตียนต้องร้กษาวันสะบาโตไหม?




คำถาม: คริสเตียนต้องร้กษาวันสะบาโตไหม?

คำตอบ:
บ่อยครั้งมีการอ้างว่า “พระเจ้าทรงสถาปนาวันสะบาโตในสวนเอเดน” เนื่องจากการเกี่ยวข้องระหว่างวันสะบาโตและการทรงสร้างในหนังสืออพยพ 20:11 แม้ว่าการที่พระเจ้าจะทรงพักผ่อนในวันที่เจ็ด (ปฐมกาล 2:3) จะเป็นเงาในการตั้งกฎแห่งวันสะบาโตในอนาคตขึ้นมาก็ตาม ก่อนหน้าที่ชนชาติอิสราเอลจะออกจากอียิปต์พระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงวันสะบาโตเลย ไม่มีพระคัมภีร์ตอนไหนที่บอกว่าผู้คนตั้งแต่สมัยอาดัมจนถึงโมเสสยึดถือวันสะบาโต

พระวจนะของพระเจ้าตรัสไว้อย่างชัดเจนว่าการรักษาวันสะบาโตเป็นหมายสำคัญระหว่างพระเจ้าและชนชาติอิสราเอล “โมเสสขึ้นไปเฝ้าพระเจ้า พระเจ้าตรัสจากภูเขานั้นว่า "บอกวงศ์วานยาโคบและชนชาติอิสราเอลดังนี้ว่า`พวกเจ้าได้เห็นกิจการซึ่งเรากระทำกับชาวอียิปต์แล้ว และที่เราเทิดชูเจ้าขึ้น ดุจดังด้วยปีกนกอินทรี เพื่อนำเจ้ามาถึงเรา เหตุฉะนั้นถ้าเจ้าฟังเสียงเรา และรักษาพันธสัญญาของเราไว้ เจ้าจะเป็นกรรมสิทธิ์ของเราที่เราเลือกสรรท่ามกลางชนชาติทั้งปวง เพราะแผ่นดินทั้งสิ้นเป็นของเรา” (อพยพ 19:3–5)

“เหตุฉะนี้ ชนชาติอิสราเอลจึงถือวันสะบาโตตลอดชั่วชาติพันธุ์ของเขาเป็นพันธสัญญาเนืองนิตย์ เป็นหมายสำคัญระหว่างเรากับชนชาติอิสราเอลว่า ในหกวันพระเจ้าได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก แต่ในวันที่เจ็ดพระองค์ได้ทรงงดการงานไว้ และได้ทรงหย่อนพระทัยในวันนั้น” (อพยพ 31:16–17)

ในเฉลยธรรมบัญญัติ 5 โมเสสโยงบัญญัติสิบประการไปถึงชนชาติอิสราเอลรุ่นถัดไป ในตอนนี้ หลังจากที่ได้สั่งให้พวกเขารักษาวันสะบาโตในข้อ 12-14 แล้ว โมเสสยังให้เหตุผลว่าทำไมคนอิสราเอลจึงต้องรักษาวันสะบาโต: “จงระลึกว่าเจ้าเคยเป็นทาสอยู่ในแผ่นดินอียิปต์ และพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าได้พาเจ้าออกมาจากที่นั่นด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ และด้วยพระกรที่เหยียดออก เหตุฉะนี้พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าได้ทรงบัญชาให้เจ้ารักษาวันสะบาโต” (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:15)

จงสังเกตคำว่าเหตุฉะนี้ พระประสงค์ของพระเจ้าในการกำหนดวันสะบาโตให้กับคนอิสราเอลไม่ใช่เพื่อให้พวกเขาจำการทรงสร้าง แต่เพื่อให้พวกเขาจำการเป็นทาสในอียิปต์และการทรงปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระ จงสังเกตุข้อเรียกร้องในการรักษาวันสะบาโต: คนที่ถือวันสะบาโตออกจากที่พักของตนไม่ได้ (อพยพ 16:29), ก่อไฟไม่ได้ (อพยพ 35:3) ให้ใครทำการงานใด ๆ ไม่ได้ (อพยพ 5:14) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎแห่งวันสะบาโตจะต้องถูกลงโทษถึงตาย (อพยพ 31:15; กันดารวิถี 15:32–35)

จากการค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ในพันธสัญญาใหม่เราได้พบหัวข้อสำคัญสี่หัวข้อคือ: 1) เมื่อใดที่พระคริสต์ปรากฏพระองค์ในสภาพหลังการฟื้นคืนพระชนม์และมีการบอกวันไว้ วันนั้นจะเป็นวันแรกของสัปดาห์เสมอ (มัทธิว 28:1, 9, 10; มาระโก 16:9; ลูกา 24:1, 13, 15; ยอห์น 20:19, 26) 2) ครั้งเดียวที่วันสะบาโตถูกกล่าวถึงตั้งแต่ในหนังสือกิจการจนถึงวิวรณ์ก็เพื่อการประกาศต่อคนยิว และสถานที่ในการประกาศก็คือในธรรมศาลา (กิจการยทที่ 13–18) ท่านเปาโลเขียนว่า “ต่อพวกยิว ข้าพเจ้าก็ทำตัวเหมือนยิว เพื่อจะได้พวกยิว” (1 โครินธ์ 9:20) ท่านเปาโลไม่ได้ไปที่ธรรมศาลาเพื่อมีสามัคคีธรรมและเสริมสร้างธรรมิกชน แต่เพื่อให้พวกเขารู้สึกผิดและช่วยผู้หลงหายให้รอด 3) ครั้งหนึ่งท่านเปาโลประกาศว่า “ตั้งแต่นี้ไปข้าพเจ้าจะไปหาคนต่างชาติ” (กิจการ 18:6), วันสะบาโตไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีกเลย, และ 4) แทนที่ส่วนที่เหลือในพระคัมภีร์ใหม่จะเสนอแนะให้ยึดติดกับวันสะบาโต, ข้อพระคัมภีร์กลับชี้แนะไปยังทิศทางตรงกันข้าม (รวมถึงข้อยกเว้นหนึ่งข้อจากหนังสือโคโลสี 2:26 สำหรับข้อ 3 ข้างต้น)

หากเราดูให้ละเอียดยิ่งขึ้น ข้อ 4 ข้างต้นจะเปิดเผยว่าไม่ได้มีการบังคับให้ผู้เชื่อในพันธสัญญาใหม่รักษาวันสะบาโต และแสดงให้เห็นด้วยว่าแนวความคิดที่ว่าวันอาทิตย์เป็นวัน “สะบาโตสำหรับคริสเตียน” ไม่มีในพระคัมภีร์เช่นเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น มีอยู่ครั้งเดียวที่วันสะบาโตถูกนำมากล่าวถึงหลังจากที่ท่านเปาโลเริ่มเน้นที่คนต่างชาติ, “เหตุฉะนั้นอย่าให้ผู้ใดพิพากษาปรักปรำท่านในเรื่องการกินการดื่ม ในเรื่องเทศกาล วันต้นเดือน หรือวันสะบาโตสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหลัง แต่กายนั้นเป็นของพระคริสต์” (โคโลสี 2:16–17) วันสะบาโตของชาวยิวได้ถูกลบล้างออกไปที่กางเขนที่ซึ่งพระคริสต์ “ทรงฉีกกรรมธรรม์ซึ่งได้ผูกมัดเราด้วยบัญญัติต่างๆซึ่งขัดขวางเรา” (โคโลสี 2:14)

แนวความคิดนี้ได้ถูกย้ำมากกว่าหนึ่งครั้งในพันธสัญญาใหม่: “คนหนึ่งถือว่าวันหนึ่งดีกว่าอีกวันหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งถือว่าทุกวันเหมือนกัน ขอให้ทุกคนมีความแน่ใจในความคิดเห็นของตนเถิด ผู้ที่ถือวันก็ถือเพื่อถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่กินก็กินเพื่อถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะเขาขอบพระคุณพระเจ้า และผู้ที่ไม่ได้กิน ก็มิได้กิจเพื่อถวายเกียรติแค่องค์พระผู้เป็นเจ้า และยังขอบพระคุณพระเจ้า” (โรม 14:5–6ก) “แต่บัดนี้เมื่อท่านรู้จักพระเจ้าแล้ว หรือที่ถูกก็คือพระเจ้าทรงรู้จักท่านแล้ว เหตุไฉนท่านจึงจะกลับไปหาวิญญาณต่างๆซึ่งอ่อนแอและอเนจอนาถ และอยากจะเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นอีก ท่านถือวัน เดือน ฤดู และปี” (กาลาเทีย 4:9–10)

แต่บางคนอ้างว่ากษัตริย์คอนสแตนตินได้ “เปลี่ยน” วันสะบาโตจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ในปีคศ 321 คริสตจักรในยุคแรกประชุมนมัสการกันวันไหน? พระคัมภีร์ไม่เคยพูดถึงการเข้ามาชุมนุมกันของผู้เชื่อเพื่อมีสามัคคีธรรมและนมัสการในวันสะบาโต (วันเสาร์) ไหนเลย แต่มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่กล่าวถึงวันแรกของสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น, หนังสือกิจการ 20:7 กล่าวว่า “ในวันต้นสัปดาห์เมื่อพวกสาวกประชุมกันทำพิธีหักขนมปัง” ใน 1 โครินธ์ 16:2 ท่านเปาโลหนุนใจผู้เชื่อชาวเมืองโครินธ์ว่า “ทุกวันต้นสัปดาห์ให้พวกท่านทุกคนเก็บผลประโยชน์ที่ได้รับไว้บ้าง” เนื่องจากท่านเปาโลได้ระบุให้การถวายทรัพย์นี้เป็น “การปรนิบัติ” ในหนังสือ 2 โครินธ์ 9:12 ดังนั้นการถวายนี้คงเกี่ยวข้องไปถึงการประชุมนมัสการของคริสเตียนในวันอาทิตย์ ตามประวัติศาสตร์ วันอาทิตย์ ไม่ใช่วันเสาร์ คือวันประชุมตามปกติของคริสเตียนในคริสตจักร และการปฏิบัตินี้ยึดถือกันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษแรก

วันสะบาโตเป็นวันที่ถูกกำหนดไว้สำหรับคนอิสราเอล วันสะบาโตยังคงเป็นวันเสาร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์ และไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย แต่วันสะบาโตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมบัญญัติในพันธสัญญาเดิม และคริสตเตียนเป็นอิสระแล้วจากพันธนาการแห่งธรรมบัญญัติ (กาลาเทีย 4:1-26; โรม 6:14) การรักษาวันสะบาโตไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน ไม่ว่าจะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ วันแรกของสัปดาห์ (วันอาทิตย์, วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า) (วิวรณ์ 1:10) เป็นวันเฉลิมฉลองการทรงสร้างใหม่โดยมีพระคริสต์ทรงเป็นผู้นำที่ฟื้นคืนพระชนม์ เราไม่จำเป็นที่จะต้องยึดถือวันสะบาโตตามกฎของโมเสส (วันพักผ่อน) เพราะบัดนี้เราเป็นอิสระแล้วที่จะติดตามพระคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ (ปรนิบัติ) อัครทูตเปาโลบอกว่าคริสเตียนแต่ละคนควรตัดสินใจว่าจะรักษาวันสะบาโตหรือไม่ “คนหนึ่งถือว่าวันหนึ่งดีกว่าอีกวันหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งถือว่าทุกวันเหมือนกัน ขอให้ทุกคนมีความแน่ใจในความคิดเห็นของตนเถิด” (โรม 14:5) เราสมควรที่จะนมัสการพระเจ้าทุกวัน ไม่ใช่เพียงแค่วันเสาร์หรือวันอาทิตย์เท่านั้น





คริสเตียนต้องร้กษาวันสะบาโตไหม?