คำถามเกี่ยวกับยุคสุดท้าย



คำถามเกี่ยวกับยุคสุดท้าย





คำถามเกี่ยวกับยุคสุดท้าย

จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างตามที่ได้มีการพยากรณ์ไว้เกี่ยวกับยุคสุดท้าย?




คำถาม: จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างตามที่ได้มีการพยากรณ์ไว้เกี่ยวกับยุคสุดท้าย?

คำตอบ:
พระคัมภีร์มีอะไรมากมายที่จะพูดเกี่ยวกับยุคสุดท้าย หนังสือเกือบทุกฉบับในพระคัมภีร์จะพูดถึงคำพยากรณ์เกี่ยวกับยุคสุดท้าย การรวบรวมเอาคำพยากรณ์ทั้งหมดมาพูดอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้จึงเป็นการสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พระคัมภีร์บอกไว้ว่าจะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย:

พระคริสต์จะทรงรับผู้เชื่อที่บังเกิดใหม่ทุกคนผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักร (ธรรมิกชนในพันธสัญญาใหม่) ออกไปจากโลกโดยเหตุการณ์ที่เรียกว่าการรับขึ้น (1 เธสะโลนิกา 4:13-18; 1 โครินธ์ 15:51) ผู้เชื่อเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับการงานดีและการรับใช้ที่แต่ละคนได้กระทำในระหว่างที่อยู่บนโลก หรือจะสูญเสียค่าตอบแทน, แต่ไม่สูญเสียชีวิตนิรันดร์, เพราะขาดการรับใช้และไร้การเชื่อฟัง (1 โครินธ์ 3:11-15; 2 โครินธ์ 5:10)

ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์ (สัตว์ร้าย) จะมีอำนาจและจะเซ็นสัญญาสันติภาพ (พันธสัญญา) กับคนอิสราเอลอยู่เจ็ดปี ช่วงเวลาเจ็ดปีนั้นถูกเรียกว่ายุคแห่งความทุกข์เวทนา ในระหว่างนั้นจะมีสงครามที่ร้ายแรง, การกันดารอาหาร, โรคระบาด และภัยพิบัติตามธรรมชาติ เกิดขึ้น พระเจ้าจะทรงเทพระพิโรธลงมาเหนือความบาป, ความชั่วร้าย และความเลวทรามทั้งหลาย ยุคแห่งความทุกข์เวทนาจะประกอบด้วยผู้ขี่ม้าสี่คนที่จะมาทำสงครามล้างโลก ตราประทับเจ็ดดวง แตร และขันแห่งคำพิพากษา

เมื่อไปถึงประมาณครึ่งหนึ่งของ 7 ปี, ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์จะทำลายสัญญาสันติภาพที่มีต่อชนชาติอิสราเอลและทำสงครามกับพวกเขา ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์จะทำสิ่งที่น่ารังเกียจที่แสนจะเศร้าสลด และสร้างรูปจำลองของตัวเองขึ้นมาให้เป็นที่กราบไหว้บูชาในพระวิหาร (ดาเนียล 9:27; 2 เธสะโลนิกา 2:3-10) ช่วงที่สองของยุคแห่งความทุกข์เวทนาเรียกว่ายุคแห่งความทุกข์เวทนาครั้งใหญ่ และยุคแห่งความยุ่งยากของยาโคบ

ในตอนจบของช่วงเวลาเจ็ดปีแห่งความทุกข์เวทนา ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์จะเริ่มโจมตีกรุงเยรูซาเล็มเป็นครั้งสุดท้ายซึ่งจบลงที่สงครามอามาเก็ดดอน พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมา, ทรงทำลายผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์และกองทัพของมัน และส่งมันไปยังบึงไฟนรก (วิวรณ์ 19:11-21) ต่อจากนั้นพระคริสต์จะทรงตรึงซาตานไว้ในห้วงเหวที่ไม่มีก้นเหวเป็นเวลา 1000 ปี และในช่วง 1000 ปีนี้ พระองค์จะทรงครอบครองแผ่นดินโลกของพระองค์ (วิวรณ์20:1-6)

เมื่อครบ 1000 ปี ซาตานก็จะถูกปล่อยออกมา, แล้วมันก็จะล่อลวงอีก แล้วก็จะถูกส่งไปยังบึงไฟนรกอีก (วิวรณ์ 20:7-10) ต่อจากนั้นพระคริสต์จะทรงประทับที่พระที่นั่งพิพากษาสีขาวพิพากษาผู้ไม่เชื่อทุกคน (วิวรณ์ 20:10-15) แล้วทุกคนก็จะถูกส่งไปยังบึงไฟนรก ต่อจากนั้นพระองค์จะทรงนำสวรรค์ใหม่และโลกใหม่เข้ามา – ที่พำนักชั่วนิรันดร์ของผู้เชื่อ แล้วจะไม่มีความบาป, ความโศกเศร้า หรือความตายอีกต่อไป และกรุงเยรูซาเล็มใหม่ก็จะลอยลงมาจากสวรรค์ (วิวรณ์บทที่ 21-22)





จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างตามที่ได้มีการพยากรณ์ไว้เกี่ยวกับยุคสุดท้าย?

หมายสำคัญสำหรับยุคสุดท้ายมีอะไรบ้าง?




คำถาม: หมายสำคัญสำหรับยุคสุดท้ายมีอะไรบ้าง?

คำตอบ:
มัทธิว 24:5-8 บอกใบ้สำคัญ ๆ สองสามข้อให้เราเพื่อที่เราจะได้รู้ว่ายุคสุดท้ายกำลังใกล้เข้ามาแล้ว “ด้วยว่าจะมีหลายคนมาต่างอ้างนามของเราว่า ตัวเขาเป็นพระคริสต์ เขาจะให้คนเป็นอันมากหลงไป ท่านทั้งหลายจะได้ยินเสียงสงคราม และข่าวลือเรื่องสงคราม คอยระวังอย่าตื่นตระหนกเลย ด้วยว่าบรรดาสิ่งเหล่านี้จำต้องบังเกิดขึ้น แต่ที่สุดปลายยุคยังไม่มาถึง เพราะประชาชาติต่อประชาชาติ ราชอาณาจักรต่อราชอาณาจักรจะต่อสู้กัน ทั้งจะเกิดกันดารอาหารและแผ่นดินไหวในที่ต่างๆ” พระเมสสิยาห์เทียมเท็จจะเพิ่มมากขึ้น, สงครามจะมีมากขึ้น, การกันดารอาหาร, โรคระบาด และภัยธรรมชาติจะเกิดมากขึ้น – สิ่งเหล่านี้คือ “หมายสำคัญ” ของยุคสุดท้าย แม้แต่ข้อพระคัมภีร์นี้ก็ยังเตือนเราไว้ เราจะต้องไม่ถูกล่อลวงให้หลง (มัทธิว 24:4) เพราะเหตุการณ์เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของความทุกข์ยากลำบาก (มัทธิว 24:8) ที่สุดปลายยังมาไม่ถึง (มัทธิว 24:6)

ทุกครั้งที่มีแผ่นดินไหว, การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, หรือการโจมตีอิสราเอล ผู้ตีความหมายหลายคนบอกว่านี่เป็นหมายสำคัญว่ายุคสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้วอย่างแน่นอน แม้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้คือหมายสำคัญที่บ่งบอกว่ายุคสุดท้ายกำลังใกล้เข้ามาแล้ว แต่มันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นตัวชี้ว่ายุคสุดท้ายได้มาถึงแล้ว อัครทูตเปาโลเตือนว่าก่อนยุคสุดท้ายจะมาถึง จะมีคำสอนเทียมเท็จเกิดขึ้นมากมาย “ในกาลภายหลังจะมีบางคนละทิ้งความเชื่อ โดยหันไปเชื่อฟังวิญญาณที่ล่อลวง และฟังคำสอนของพวกผีปิศาจ” (1 ทิโมธี 4:1) พระคัมภีร์บอกว่าช่วงสุดท้ายเป็น “ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยอันตราย” เพราะคนจะมีความชั่วร้าย และ “ต่อต้านความจริง” มากขึ้น (2 ทิโมธี 3:1-9; ดู 2 เธสะโลนิกา 2:3 ประกอยด้วย)

หมายสำคัญอื่น ๆ รวมถึงการสร้างวิหารของชาวยิวขึ้นมาใหม่ในกรุงเยรูซาเล็ม, การต่อต้านอิสราเอลที่เพิ่มมากขึ้น, และแนวโน้มที่ทั้งโลกจะมีรัฐบาลเดียวมีมากขึ้น แต่หมายสำคัญที่โดดเด่นที่สุดว่ายุคสุดท้ายจะมาถึงคือชนชาติอิสราเอล ในปี ค.ศ. 1948 อิสราเอลได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศเป็นครั้งแรกหลังจากปี ค.ศ. 70 พระเจ้าทรงสัญญากับอับบราฮัมว่าลูกหลานของเขาจะได้รับคานาอันเป็น “กรรมสิทธิ์นิรันดร์” (ปฐมกาล 17:8) และเอเสเคียลได้ พยากรณ์ไว้ว่าอิสราเอลจะเป็นขึ้นมาใหม่ทั้งฝ่ายร่างกายและจิตวิญญาณ (เอเสเคียล 37) การที่ชนชาติอิสราเอลมีแผ่นดินเป็นของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญเมื่อพูดถึงคำพยากรณ์ที่เกี่ยวกับยุคสุดท้าย เพระอิสราเอลคือจุดเด่นในเหตุการณ์นั้น (ดาเนียล 10:14; 11:41; วิวรณ์ 11:8)

มันจะเป็นการฉลาดสำหรับเราที่จะจำหมายสำคัญเหล่านี้ไว้ให้ได้ เพื่อที่จะคาดได้ว่ายุคสุดท้ายจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่เราไม่ควรสรุปว่าเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวคือหมายสำคัญที่บ่งชี้ว่ายุคสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้ว พระเจ้าทรงให้ข้อมูลเพียงพอเพื่อเราจะได้เตรียมตัว แต่ไม่พอที่จะทำให้เราหยิ่งได้





หมายสำคัญสำหรับยุคสุดท้ายมีอะไรบ้าง?

การรับคริสตจักรขึ้นคืออะไร?




คำถาม: การรับคริสตจักรขึ้นคืออะไร?

คำตอบ:
คำว่า “การรับขึ้น” ไม่มีในพระคัมภีร์ แต่แนวความคิดเกี่ยวกับการรับขึ้นถูกสอนอย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ การรับคริสตจักรขึ้นคือเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงรับผู้เชื่อทุกคนออกไปจากโลกเพื่อที่จะได้ทรงเทการพิพากษาอันชอบธรรมของพระองค์ลงมาเหนือโลกในระหว่างช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก การรับขึ้นได้ถูกพูดไว้ในเบื้องต้นในข้อพระคัมภีร์ 1 เธสะโลนิกา 4:13-18 และ 1 โครินธ์ 15:50-54 ข้อพระคัมภีร์ 1 เธสะโลนิกา 4:13-18 อธิบายว่าการรับขึ้นคือการที่พระเจ้าทรงทำให้ผู้เชื่อทุกคนที่ตายแล้วฟื้นขึ้นมา, ทรงให้กายใหม่ที่เต็มไปด้วยพระสิริ, แล้วทรงพาพวกเขาออกไปจากโลกพร้อมกับผู้เชื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งจะได้รับกายใหม่ที่เต็มไปด้วยพระสิริเช่นกัน “ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาจากสวรรค์ ด้วยพระดำรัสสั่ง ด้วยสำเนียงเรียกของเทพบดี และด้วยเสียงแตรของพระเจ้า และคนทั้งปวงที่ตายแล้วในพระคริสต์จะเป็นขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นเราทั้งหลายซึ่งยังเป็นอยู่ จะถูกรับขึ้นไปในเมฆพร้อมกับคนเหล่านั้น และจะได้พบองค์พระผู้เป็นเจ้าในฟ้าอากาศ อย่างนั้นแหละ เราก็จะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นนิตย์” (1 เธสะโลนิกา 4:16-17)

ข้อพระคัมภีร์ 1 โครินธ์ 15:50-54 เน้นที่การรับขึ้นที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตา และที่กายใหม่ที่เต็มไปด้วยพระสิริที่เราจะได้รับ “ดูก่อนท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความล้ำลึกที่จะบอกแก่ท่าน คือว่าเราจะไม่ล่วงหลับหมดทุกคน แต่เราจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่หมด ในชั่วขณะเดียว ในพริบตาเดียว เมื่อเป่าแตรครั้งสุดท้าย เพราะว่าจะมีเสียงแตร และคนที่ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาปราศจากเน่าเปื่อย แล้วเราทั้งหลายจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่” (1 โครินธ์ 15:51-52) การรับขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยพระสิริที่เราควรจดจ่อรอคอย ในที่สุดเราจะเป็นอิสระจากความบาป เราจะได้อยู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้าตลอดไป มีการถกเถียงกันมากเกินไปเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของการรับขึ้น แต่นี่ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า เมื่อพูดถึงการรับขึ้น, พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เรา “หนุนใจซึ่งกันและกันด้วยถ้อยคำซึ่งมาจากพระองค์” มากกว่า





การรับคริสตจักรขึ้นคืออะไร?

ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากคืออะไร? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากจะยาวนานเจ็ดปี?




คำถาม: ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากคืออะไร? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากจะยาวนานเจ็ดปี?

คำตอบ:
ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากคือช่วงเวลา 7 ปีที่จะมาถึงในอนาคตเมื่อพระเจ้าจะทรงสิ้นสุดการว่ากล่าวตักเตือนคนอิสราเอลและพิพากษาผู้ไม่เชื่อและคริสตจักร, ซึ่งประกอบด้วยทุกคนที่วางใจในพระเยซูคริสต์และงานที่พระองค์ได้ทรงกระทำเพื่อช่วยพวกเขาให้รอดจากการลงโทษอันเนื่องมาจากความบาปที่เขาได้กระทำลงไป, จะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากนั้น คริสตจักรจะถูกนำออกไปจากโลกโดยเหตุการณ์ที่ชื่อว่าการรับขึ้น (1 เธสะโลนิกา 4:13-18; 1 โครินธ์ 15:51-53) คริสตจักรจะปลอดภัยจากพระพิโรธที่จะมาถึง (1 เธสะโลนิกา 5:9) ตลอดทั้งพระคัมภีร์ ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากถูกเรียกด้วยชื่อต่าง ๆ เช่น:

1) วันแห่งพระเยโฮวาห์ (อิสยาห์ 2:12; 13:6, 9; โยเอล 1:15, 2:1, 11, 31, 3:14; 1 เธสะโลนิกา 5:2)
2) ความทุกข์ลำบาก (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:30; เศฟันยาห์ 1:1)
3) ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่งซึ่งกล่าวถึงช่วงครึ่งที่สองของระยะ 7 ปีอันเป็นช่วงที่ความทุกข์ยากทวีความ รุนแรงขึ้น (มัทธิว 24:21)
4) เวลาหรือวันแห่งความยากลำบาก (ดาเนียล 12:1; เศฟันยาห์ 1:15)
5) เวลาทุกข์ใจของยาโคบ (เยเรมีย์ 30:7)

การเข้าใจหนังสือดาเนียล 9:24-27 เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อที่เราจะได้เข้าใจวัตถุประสงค์และเวลาแห่งความทุกข์ยาก ข้อพระคัมภีร์ดาเนียลในตอนนี้พูดถึง 70 สัปดาห์ซึ่งถูกประกาศว่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากของ “ชนชาติของท่าน” “ชนชาติ” ของดาเนียลคือคนยิว, ชนชาติอิสราเอล, และสิ่งที่ข้อพระคัมภีร์ดาเนียล 9:24 พูดถึง คือช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ “เพื่อให้เสร็จสิ้นการทรยศ ให้บาปจบสิ้น และให้ลบมลทิน เพื่อนำความชอบธรรมนิรันดร์เข้ามา เพื่อประทับตราทั้งนิมิตและคำของผู้เผยพระวจนะไว้ และเพื่อจะเจิมสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” พระเจ้าทรงประกาศว่าภายในช่วงเวลา “70 สัปดาห์” สิ่งเหล่านี้สำเร็จลง มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจว่าเมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่า “70 สัปดาห์” มันไม่ได้หมายถึงสัปดาห์ที่มี 7 วันอย่างที่เราเข้าใจกัน คำว่า heptad ในภาษาฮีบรู ที่หนังสือดาเนียล 9:24-27 แปลว่าสัปดาห์นั้นจริง ๆ แล้วหมายถึง “7” กับอีก 70 สัปดาห์ (70 คูณ 7) เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่พระเจ้าพูดถึงจริง ๆ แล้วคือ 70 เจ็ดครั้ง หรือ 490 ปี เรื่องนี้ได้รับการยืนยันโดยข้อพระคัมภีร์ข้อถัดไป ในข้อ 25 และ 26 ดาเนียลได้รับการบอกว่าพระเมสสิยาห์จะถูกตัดออก “7 สัปดาห์ และ 62 สัปดาห์” (รวมทั้งหมดเป็น 69 สัปดาห์ด้วยกัน) เริ่มด้วยการมีพระบัญชาให้ออกไปให้สร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นมาใหม่ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ, หลังจากการมีพระบัญชาให้ออกไปสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นมาใหม่เจ็ดปี 69 ครั้ง (483 ปี) พระเมสสิยาห์จะถูกตัดออก นักประวัติศาสตร์ด้านพระคัมภีร์ยืนยันว่าช่วงเวลาตั้งแต่การมีพระบัญชาให้สร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นมาใหม่จนถึงเวลาที่พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนเป็นเวลา 483 ปีจริง ๆ นักศึกษาพระคัมภีร์ส่วนใหญ่, ไม่ว่าเขาจะมีมุมมองเกี่ยวกับการพิพากษานรกสวรรค์ (เหตุการณ์ในอนาคต) อย่างไร, เข้าใจเรื่อง 70 สัปดาห์ของดาเนียลทั้งนั้น

จากระยะเวลา 483 ปีตั้งแต่ที่มีพระบัญชาให้สร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นมาใหม่จนถึงเวลาที่พระเมสสิยาห์ถูกตัดออก ก็จะเหลือเวลาอีก 1 สัปดาห์ (7 ปี) ที่ยังไม่สำเร็จลงตามที่หนังสือแดเนียล 9:24 บันทึกไว้ “เพื่อให้เสร็จสิ้นการทรยศ ให้บาปจบสิ้น และให้ลบมลทิน เพื่อนำความชอบธรรมนิรันดร์เข้ามา เพื่อประทับตราทั้งนิมิตและคำของผู้เผยพระวจนะไว้ และเพื่อจะเจิมสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” ช่วง 7 ปีสุดท้ายคือช่วงเวลาที่รู้กันว่าคือช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก -- เวลาที่พระเจ้าทรงเสร็จสิ้นการพิพากษาคนอิสราเอลอันเนื่องมาจากความบาปของพวกเขา

หนังสือดาเนียล 9:27 เน้นจุดเด่นสองสามประการในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก 7 ปี “ท่านจะทำพันธสัญญากับคนเป็นอันมากอยู่หนึ่งสัปตะ ท่านจะกระทำให้การถวายสัตวบูชา และเครื่องบูชาอื่นๆหยุดไปครึ่งสัปตะ ผู้ที่จะกระทำให้เกิดการวิบัตินั้นจะมาบนปีกของสิ่งน่าสะอิดสะเอียน จนความอวสานที่ได้กำหนดไว้จะถูกเทลงเหนือผู้กระทำให้เกิดความวิบัตินั้น” ผู้ที่ข้อพระคัมภีร์นี้พูดถึงคือผู้ที่พระเยซูทรงเรียกว่า “สิ่งที่น่าสะอิดสะเอียนซึ่งกระทำให้เกิดการรกร้างว่างเปล่า” (มัทธิว 24:15) และหนังสือวิวรณ์ 13 เรียกว่าสัตว์ร้าย หนังสือดาเนียล 9:27 กล่าวว่าสัตว์ร้ายนี้จะทำพันธสัญญาอยู่หนึ่งสัปดาห์ (7 ปี) แต่ในระหว่างกลางสัปดาห์ (3 ½ ปีของช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก) มันจะเลิกพันธสัญญาและทำให้การถวายสัตวบูชาและเครื่องบูชาอื่น ๆ หยุดไป หนังสือวิวรณ์ยทที่ 13 อธิบายว่าสัตว์ร้ายนี้จะเอารูปจำลองของมันไปไว้ในพระวิหารและเรียกร้องให้คนทั่วโลกนมัสการมัน หนังสือวิวรณ์ 13:5 บอกว่าสัตว์ร้ายนี้จะทำอย่างนั้นอยู่ 42 สัปดาห์ ซึ่งก็คือ 3 ½ ปี เนื่องจากหนังสือดาเนียล 9:27 บอกว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในระหว่างกลางสัปดาห์, และหนังสือวิวรณ์ 13:5 บอกว่าสัตว์ร้ายตัวนี้จะทำอย่างนี้เป็นระยะ 42 เดือน ดังนั้นจึงเห็นง่าย ๆ ว่าระยะเวลาทั้งหมดคือ 84 เดือน หรือ 7 ปี หนังสือดาเนียล 7:25 บอกด้วยว่าเมื่อพระคัมภีร์พูดถึง “หนึ่งวาระ สองวาระ กับครึ่งวาระ” (หนึ่งวาระ = 1 ปี, สองวาระ = 2 ปี, ครึ่งวาระ = ครึ่งปี รวมเป็น 3 ½ ปี) พระคัมภีร์หมายถึง ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากครั้งใหญ่ ช่วงครึ่งหลังของ 7 ปีของเวลาแห่งความทุกข์ยากเมื่อ “ความสะอิดสะเอียนที่ก่อให้เกิดความร้างเปล่า” (สัตว์ร้าย) จะมีอำนาจ

ท่านสามารถอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพิ่มเติมได้เกี่ยวกับช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก: วิวรณ์ 11:2-3 ซึ่งพูดถึงช่วงเวลา 1,260 วัน และ 42 สัปดาห์, และ ดาเนียล 12:11-12 ซึ่งพูดถึงช่วงเวลา 1,290 วันและ 1,335 วัน, ข้อพระค้มภีร์ทั้งหมดนี้พูดถึงตอนกลางของช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก วันที่เพิ่มขึ้นมาในหนังสือดาเนียล 12 อาจรวมถึงช่วงเวลาสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงเวลาพิพากษาบรรดาประชาชาติ (มัทธิว 25:31-46) และช่วงก่อตั้งอาณาจักพันปีของพระคริสต์ด้วย (วิวรณ์ 20:4-6)





ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากคืออะไร? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากจะยาวนานเจ็ดปี?

การรับขึ้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เมื่อพูดถึงเวลาแห่งความทุกข์ยาก?




คำถาม: การรับขึ้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เมื่อพูดถึงเวลาแห่งความทุกข์ยาก?

คำตอบ:
จังหวะเวลาของการรับขึ้นที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมากที่สุดในคริสตจักรในปัจจุบัน ความเห็นในเบื้องต้นของผู้คนคิดว่ามันเกิดขึ้นได้ในสามช่วงเวลาคือ ก่อนเวลาแห่งความทุกข์ยาก (การรับขึ้นเกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก), กลางเวลาแห่งความทุกข์ยาก (การรับขึ้นเกิดขึ้นในช่วงกลางของเวลาแห่งความทุกข์ขาก), และหลังเวลาแห่งความทุกข์ยาก (การรับขึ้นเกิดขึ้นในตอนจบของช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก) ความเห็นที่สี่, ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของช่วงเวลาก่อนพระพิโรธ, คือช่วงเวลาก่อนกลางเวลาแห่งความทุกข์ยากเล็กน้อย

ประการแรก, มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้ถึงวัตถุประสงค์ของเวลาแห่งความทุกข์ยาก, ตามที่หนังสือดาเนียล 9:27 เขียนไว้, มี “สัปดาห์” ที่เจ็ดสิบ (7 ปี) ที่ยังมาไม่ถึง การพยากรณ์ทั้งหมดของดาเนียลเกี่ยวกับเจ็ดสิบสัปดาห์ (ดาเนียล 9:20-27) เป็นการพูดถึงชนชาติอิสราเอล มันเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงเน้นความสนใจของพระองค์ไปที่ชนชาติอิสราเอลโดยเฉพาะ สัปดาห์ที่เจ็ดสิบ, เวลาแห่งความทุกข์ยาก, จึงต้องเป็นเวลาที่พระเจ้าทรงจัดการกับคนอิสราเอลอย่างเจาะจงด้วยเช่นกัน ในขณะที่เรื่องนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการชี้ว่าคริสตจักรไม่น่าจะอยู่ที่นั่นในตอนนั้นด้วย แต่มันก็ได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมคริสตจักรจะต้องอยู่ในโลกในระหว่างช่วงเวลานั้นด้วย

ข้อพระคัมภีร์ต้น ๆ เกี่ยวกับการรับขึ้นอยู่ในหนังสือ 1 เธสะโลนิกา 4:13-18 ข้อพระคัมภีร์ในตอนนี้บอกว่าผู้เชื่อทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และตายแล้วจะได้พบกับองค์พระเยซูเจ้าในอากาศและจะได้อยู่กับพระองค์ตลอดไป การรับขึ้นคือการทรงรับคนของพระองค์ออกไปจากโลก ต่อมาในข้อ 5:9 ท่านเปาโลพูดว่า “เพราะว่าพระเจ้ามิได้ทรงกำหนดเราไว้สำหรับพระอาชญา แต่สำหรับให้เข้าสู่ความรอด โดยพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา” หนังสือวิวรณ์, ซึ่งส่วนใหญ่กล่าวเกี่ยวกับช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก, เป็นการเผยพระวจนะว่าพระเจ้าจะเทพระอาชญาของพระองค์ลงมาเหนือโลกในระหว่างช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก หากพระเจ้าทรงสัญญาไว้กับผู้เชื่อว่าพวกเขาจะไม่ต้องเจอกับความยากลำบาก แต่แล้วพระองค์ก็ทรงทิ้งพวกเขาไว้บนโลกระหว่างช่วงเวลานั้น มันก็กลายเป็นว่าพระเจ้าจะตรัสไม่ตรงกัน ดังนั้นความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะปลดปล่อยคริสเตียนให้พ้นจากพระพิโรธ หลังจากทรงสัญญาว่าจะทรงรับคนของพระองค์ออกไปจากโลกดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกันมากกว่า

ข้อพระคัมภีร์ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการรับขึ้นอยู่ในหนังสือวิวรณ์ 3:10 ในข้อพระคัมภีร์นี้พระคริสต์ทรงสัญญาว่าพระองค์จะปลดปล่อยผู้เชื่อจาก “เวลาแห่งการทดลอง” ที่จะมาถึงโลก นี่อาจหมายถึงสองสิ่ง คือ 1) พระคริสต์จะทรงปกป้องผู้เชื่อท่ามกลางการทดลอง หรือ 2) พระคริสต์จะทรงปลดปล่อยผู้เชื่อให้หลุดจากการทดลอง ทั้งสองข้อถูกต้องตามความหมายของคำว่า “จาก” ในภาษากรีก แต่มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้ว่าผู้เชื่อได้รับสัญญาว่าจะได้รับการป้องกัน “จาก” อะไร มันไม่ใช่แค่จากการทดลองเท่านั้น แต่จาก “โมงยาม” แห่งการทดลองด้วย พระคริสต์ทรงสัญญาว่าจะปกป้องผู้เชื่อไว้ในระหว่างการทดลองด้วย คือ เวลาแห่งความทุกข์ยาก วัตถุประสงค์ของเวลาแห่งความทุกข์ยาก, วัตถุประสงค์ของการรับขึ้น, ความหมายของข้อพระคัมภีร์ 1 เธสะโลนิกา 5:9 และความหมายของข้อพระคัมภีร์วิวรณ์ 3:10 ทั้งหมดพูดเกี่ยวกับเรื่องก่อนเวลาแห่งนความทุกยากลำบากทั้งสิ้น หากพระคัมภีร์พระคัมภีร์มีความหมายตรงกับที่พูด และไม่เปลี่ยนแปลง ช่วงเวลาก่อนความทุกข์ยากจะมาถึงเป็นการตีความหมายที่ตรงที่สุด





การรับขึ้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เมื่อพูดถึงเวลาแห่งความทุกข์ยาก?

การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์คืออะไร?




คำถาม: การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์คืออะไร?

คำตอบ:
การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์คือความหวังของผู้เชื่อว่าพระเจ้าจะเสด็จมาควบคุมทุกสิ่ง พระองค์ทรงสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาและคำพยากรณ์ของพระองค์ ในการเสด็จมาครั้งแรก พระเยซูคริสต์เสด็จมาในสภาพของทารกในรางหญ้าที่เมืองเบธเลเฮม ตามที่ได้มีการพยากรณ์ไว้ พระเยซูทรงทำให้คำพยากรณ์มากมายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์สำเร็จลงในระหว่างการทรงบังเกิด, การดำเนินชีวิต, พันธกิจ, การวายพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ แต่ยังมีคำพยากรณ์บางอย่างเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ที่พระเยซูยังไม่ได้ทำให้สำเร็จลง การเสด็จกลับมาในครั้งที่สองของพระคริสต์จะเป็นการเสด็จกลับมาเพื่อที่จะทำให้คำพยากรณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นสำเร็จลง ในการเสด็จมาครั้งแรก พระเยซูเสด็จมาในสภาพที่ต่ำต้อยที่สุด แต่ในการเสด็จมาในครั้งที่สอง พระองค์จะเสด็จมาพร้อมกองทัพแห่งทูตสวรรค์เคียงข้างพระองค์

ผู้เผยพระวจนะในพันธสัญญาเดิมไม่ได้ชี้ให้เห็นเป็นพิเศษสำหรับความแตกต่างระหว่างการเสด็จมาทั้งสองครั้ง เรื่องนี้เราสามารถดูได้จากข้อพระคัมภีร์เช่น อิสยาห์ 7:14; 9:6-7; และ เศคาริยาห์ 14:4 ผลของคำเผยพระวจนะที่ดูเหมือนว่าจะพูดถึงบุคคลสองคน, ผู้ทรงคุณวุฒิชาวยิวเชื่อว่าจะมีพระเมษสิยาห์ผู้ได้รับความทุกข์ทรมาน และ พระเมษสิยาห์ผู้มีชัยชนะ สิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจคือพระเมษสิยาห์องค์เดียวกันนี้เองคือผู้ที่ทำให้บทบาททั้งสองสำเร็จลง พระเยซูทรงทำให้บทบาทของผู้ปรนนิบัติผู้ได้รับความทุกข์ทรมาน (อิสยาห์บทที่ 53) สำเร็จลงในการเสด็จมาในครั้งแรก และพระเยซูจะทรงทำให้บทบาทของผู้ปลดปล่อยและกษัตริย์ของชาวยิวสำเร็จลงในการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง ในการบรรยายถึงการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง หนังสือเศคาริยาห์ 12:10 และวิวรณ์ 1:7 ย้อนกลับไปถึงสมัยที่พระเยซูทรงถูกทิ่มแทง คนอิสราเอลและคนทั้งโลกจะร่ำไห้ที่ไม่ได้ต้อนรับพระเมสสิยาห์ในครั้งแรกที่พระองค์เสด็จมา

หลังจากที่พระเยซูคริสต์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์, เหล่าทูตสวรรค์ได้บอกกับบรรดาอัครทูตว่า “ชาวกาลิลีเอ๋ย เหตุไฉนท่านจึงเขม้นดูฟ้าสวรรค์ พระเยซูองค์นี้ซึ่งทรงรับไปจากท่านขึ้นไปยังสวรรค์นั้น จะเสด็จมาอีกเหมือนอย่างที่ท่านทั้งหลายได้เห็นพระองค์เสด็จไปยังสวรรค์นั้น” (กิจการ 1:11) เศคาริยาห์ 14:4 บอกว่าสถานที่ที่พระองค์จะเสด็จกลับมาในครั่งที่สองคือที่ภูเขามะกอกเทศ ข้อพระคัมภีร์มัทธิว 24:30 กล่าวว่า “เมื่อนั้นนิมิตแห่งบุตรมนุษย์ จะปรากฏขึ้นในท้องฟ้า `มนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะตีอกร้องไห้ แล้วจะเห็น `บุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆในท้องฟ้า ทรงฤทธานุภาพและพระสิริเป็นอันมาก” ทิตัส 2:13 บรรยายการเสด็จกลับมาครั้งที่สองว่าเป็น “การปรากฏอันทรงสง่าราศี”

หนังสือวิวรณ์ 19:11-16 พูดไว้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง: “แล้วข้าพเจ้าก็ได้เห็นสวรรค์เปิดออก และดูเถิด มีม้าขาวตัวหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงม้านั้นมีพระนามว่า "สัตย์ซื่อและสัตย์จริง" พระองค์พิพากษาและทรงกระทำสงครามด้วยความเป็นธรรม พระเนตรของพระองค์ดุจเปลวไฟ และบนพระเศียรของพระองค์มีมงกุฎหลายอัน และพระองค์ทรงมีพระนามจารึกไว้ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้จักเลย นอกจากพระองค์เอง พระองค์ทรงฉลองพระองค์ที่จุ่มเลือด และพระนามที่เรียกพระองค์นั้นคือ "พระวาทะของพระเจ้า" เหล่าพลโยธาในสวรรค์สวมอาภรณ์ผ้าป่านเนื้อละเอียด ขาวบริสุทธิ์ ได้นั่งบนหลังม้าขาวตามเสด็จพระองค์ไป มีพระแสงคมออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ เพื่อพระองค์จะได้ทรงฟันฟาดบรรดานานาประชาชาติ ด้วยพระแสงนั้น และพระองค์จะทรงครอบครองเขาด้วยคทาเหล็ก พระองค์จะทรงเหยียบบ่อย่ำองุ่นแห่งพระพิโรธอันเฉียบขาดของพระเจ้า ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด พระองค์ทรงมีพระนามจารึกที่ฉลองพระองค์ และที่ต้นพระอูรุของพระองค์ว่า " จอมกษัตริย์และจอมเจ้านาย ”





การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์คืออะไร?

อาณาจักรพันปีคืออะไร และมันมีอายุพันปีจริง ๆ หรือไม่?




คำถาม: อาณาจักรพันปีคืออะไร และมันมีอายุพันปีจริง ๆ หรือไม่?

คำตอบ:
อาณาจักรพันปีเป็นชื่อเรียกการครอบครองพันปีของพระเยซูคริสต์บนโลกนี้ บางคนตีความหมายว่าจำนวน 1000 ปีเป็นแค่ตัวเลขเปรียบเทียบ บางคนคิดว่า 1000 ปีเป็นแค่วิธีการบอกถึง “ระยะเวลาที่ยาวนาน” ความเข้าใจแบบนี้ทำให้คนบางคนไม่ได้คิดว่ามันเป็นการครอบครองโลกพันปีจริง ๆ ด้วยพระองค์เองของพระเยซูคริสต์ แต่หนังสือวิวรณ์ 20:2-7 เขียนไว้หกครั้งอย่างเจาะจงว่าอาณาจักรพันปีคือระยะเวลา 1000 ปี หากพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะบอกว่า “ระยะเวลาที่ยาวนาน” พระองค์ก็ทรงสามารถที่จะตรัสเช่นนั้นง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องย้ำเวลาที่ชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นแน่

พระคัมภีร์บอกเราว่าเมื่อพระคริสต์เสด็จกลับมายังโลก พระองค์จะทรงสถาปนาพระองค์เองในฐานะกษัตริย์แห่งกรุงเยรูซาเล็มและจะทรงประทับบนพระที่นั่งของดาวิด (ลูกา 1:32-33) พันธสัญญาที่ไม่มีเงื่อนไขหลายฉบับเรียกร้องการเสด็จกลับมาของพระคริสต์โดยพระองค์เองเพื่อสถาปนาพระราชอาณาจักร ในพันธสัญญาที่ทรงทำไว้ต่ออับรามพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะให้แผ่นดิน, ลูกหลาน, ประมุข, และพระพรฝ่ายวิญญาณ กับคนอิสราเอล (ปฐมกาล 12:1-3) ในพันธสัญญาปาเลสไตน์พระเจ้าทรงสัญญากับคนอิสราเอลว่าจะทรงทำให้แผ่นดินของเขากลับสู่สภาพดีและเขาจะได้ครอบครองแผ่นดินอีก (เฉลยธรรมบัญญัติ 30:1-10) ในพันธสัญญาต่อดาวิดพระเจ้าทรงสัญญากับคนอิสราเอลว่าจะทรงให้อภัยพวกเขา – ทางที่ประชาชาติจะได้รับพระพร (เยเรมีย์ 31:31-34)

ในการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง พันธสัญญาเหล่านี้จะถูกทำให้สำเร็จลงในขณะที่คนอิสราเอลจะถูกรวบรวมกลับมาจากบรรดาประชาชาติอีกครั้งหนึ่ง (มัทธิว 24:31) , พวกเขาจะกลับใจใหม่และหันมาหาพระเจ้า (เศคาริยาห์ 12:10-14) และจะถูกนำกลับมาสู่แผ่นดินภายใต้การครอบครองของพระเมสสิยาห์, พระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์พูดถึงสภาพของยุคพันปีว่าดีพร้อมทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายวิญญาณ มันจะเป็นช่วงเวลาแห่งสันติสุข (มีคาห์ 4:2-4; อิสยาห์ 32:17-18); ความชื่นชมยินดี (อิสยาห์ 61:7,10); การเล้าโลมใจ (อิสยาห์ 40:1-2); และจะไม่มีความยากจน (อาโมส 9:13-15) หรือโรคภัยไข้เจ็บ (โยเอล 2:28-29) พระคัมภีร์ยังบอกอีกด้วยว่ามีแต่ผู้เชื่อเท่านั้นที่จะได้เข้าไปอยู่ในราชอาณาจักรพันปี เพราะอย่างนี้ มันจึงจะต้องมีช่วงเวลาแห่งความชอบธรรมเต็มที่ (มัทธิว 25:37; สดุดี 24:3-4); ความเชื่อฟัง (เยเรมีย์ 31:33); ความบริสุทธิ์ศักดิสิทธิ์ (อิสยาห์ 35:8); ความจริง (อิสยาห์ 65:16); และความเต็มบริบูรณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (โยเอล 2:28-29). พระคริสต์จะทรงครอบครองในฐานะกษัตริย์ (อิสยาห์ 9:3-7; 11:1-10), โดยมีวงศ์วานของกษัตริย์ดาวิดเป็นผู้คอยสอดส่องดูแล (เยเรมีย์ 33:15,17,21; อาโมส 9:11). ขุนนางและเจ้าผู้ครองนครก็จะครอบครองด้วย (อิสยาห์32:1; มัทธิว 19:28) กรุงเยรูซาเล็มจะเป็นศูนย์กลางแห่ง “การเมือง” ของโลก (เศคาริยาห์ 8:3)

หนังสือวิวรณ์ 20:2-7 ได้บอกระยะเวลาที่แน่นอนของอาณาจักรพันปีเอาไว้ ถึงแม้ว่าข้อพระคัมภีร์ตอนนี้ไม่ได้บอก ก็ยังมีข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนที่บอกชัดเจนถึงระยะเวลาแห่งการครอบครองของพระเมสสิยาห์บนโลกนี้ พันธสัญญาและพระสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้าที่จะสำเร็จลงเมื่ออาณาจักรนี้มาถึงในอนาคตตามที่พระคัมภีร์ได้บันทึกไม่มีอะไรที่มั่นคงพอที่จะทำให้เราปฏิเสธความเข้าใจเกี่ยวกับอาณาจักรพันปีและระยะเวลา 1000 ปีนี้ได้





อาณาจักรพันปีคืออะไร และมันมีอายุพันปีจริง ๆ หรือไม่?