คำถามเกี่ยวกับศาสนศาสตร์
คำถามเกี่ยวกับศาสนศาสตร์
คำถามเกี่ยวกับศาสนศาสตร์
ศาสนศาสตร์ระบบคืออะไร?
คำถาม: ศาสนศาสตร์ระบบคืออะไร?
คำตอบ: คำว่า “ศาสนศาสตร์ (theology)” มาจากรากศัพท์ภาษากรีกสองคำที่หมายความว่า “พระเจ้า” และ “พระวจนะ คำว่า theology แปลว่า “การศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้า” คำว่าระบบ (systematic) หมายถึงการนำเอาบางสิ่งบางอย่างมาจัดให้เป็นระบบ ดังนั้นเมื่อเอาคำสองคำมารวมกัน คำว่าศาสนศาสตร์ระบบจึงหมายความว่าการจัดเรื่องเกี่ยวกับศาสนศาสตร์ให้เป็นหมวดหมู่และเป็นระบบระเบียบว่าหมวดหมู่ไหนเกี่ยวกับอะไร ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเกี่ยวกับทูตสวรรค์มีปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่มในพระคัมภีร์ ไม่ใช่ในเล่มเดียว ศาสนศาสตร์ระบบจะนำข้อมูลทั้งหมดจากหนังสือทุกเล่มที่เกี่ยวกับทูตสวรรค์แล้วนำมารวบรวมให้เป็นระบบภายใต้หัวข้อเรื่องว่า ความเชื่อเกี่ยวกับทูตสวรรค์ นี่คือความหมายของศาสนศาสตร์ระบบ - ซึ่งเป็นการจัดหมวดหมู่คำสอนในพระคัมภีร์ให้เป็นระบบระเบียบนั่นเอง
Theology Proper หรือ Paterology คือการศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้าพระบิดา
Christology คือการศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้าพระบุตร, องค์พระเยซูคริสต์เจ้า
Pneumatology คือการศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์
Bibliologyคือการศึกษาเกี่ยวกับพระคัมภีร์
Soteriology คือการศึกษาเกี่ยวกับความรอด
Ecclesiology คือการศึกษาเกี่ยวกับคริสตจักร
Eschatology คือการศึกษาเกี่ยวกับการสิ้นโลก
Angelology คือการศึกษาเกี่ยวกับทูตสวรรค์
Christian Demonology คือการศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณชั่วจากมุมมองของคริสเตียน
Christian Anthropology คือการศึกษาเกี่ยวกับมนุษยชาติ
Hamartiology คือการศึกษาเกี่ยวกับความบาป
ศาสนศาสตร์สายคัมภีร์ (Biblical theology) คือการศึกษาหนังสือฉบับใดฉบับหนึ่ง (หรือหลายฉบับ) ในพระคัมภีร์และเน้นมุมมองทางด้านศาสนศาสตร์ที่ต้องการศึกษาเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่นหนังสือพระกิตติคุณยอห์นเป็นหนังสือที่เน้นเรื่องความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ (ยอห์น 1:1,14; 8:58; 10:30; 20:28) ศาสนศาสตร์สายประวัติศาสตร์ (Historical theology) คือการศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอนและการพัฒนาการของคริสตจักรในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ศาสนศาสตร์ผูกขาด (Dogmatic theology) คือการศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอนของคริสเตียนบางกลุ่มที่มีการจัดระบบหลักคำสอน เช่น ศาสนศาสตร์ระบบแคลวิน และ ศาสนศาสตร์ระบบเจ็ดยุค (dispensational theology) ศาสนศาสตร์ร่วมสมัย (Contemporary theology) คือการศึกษาหลักคำสอนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นหรือกำลังได้รับความสนใจ ศาสนศาสตร์ระบบเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจและสอนพระคัมภีร์ได้อย่างเป็นระบบระเบียบ
ศาสนศาสตร์ระบบคืออะไร?
การทรงเลือกล่วงหน้าคืออะไร? การทรงเลือกล่วงหน้าถูกต้องตามพระคัมภีร์ไหม?
คำถาม: การทรงเลือกล่วงหน้าคืออะไร? การทรงเลือกล่วงหน้าถูกต้องตามพระคัมภีร์ไหม?
คำตอบ: หนังสือโรม 8:29-30 บอกเราว่า “เพราะว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่พระองค์ได้ทรงทราบอยู่แล้ว ผู้นั้นพระองค์ได้ทรงตั้งไว้ให้เป็นตามลักษณะพระฉาย แห่งพระบุตรของพระองค์ เพื่อพระบุตรนั้นจะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพวกพี่น้องเป็นอันมาก และบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้นั้น พระองค์ได้ทรงเรียกมาด้วย และผู้ที่พระองค์ได้ทรงเรียกมานั้น พระองค์ทรงโปรดให้เป็นผู้ชอบธรรม และผู้ที่พระองค์ทรงโปรดให้เป็นผู้ชอบธรรม พระองค์ก็ทรงโปรดให้มีศักดิ์ศรีด้วย” หนังสือเอเฟซัส 1:5 และ 11 กล่าวว่า “พระองค์ทรงกำหนดเราไว้ด้วยความรักก่อนตามที่ชอบพระทัยพระองค์ ให้เป็นบุตรโดยพระเยซูคริสต์ … ในพระองค์นั้น ตามพระดำริของพระองค์ผู้ทรงกระทำทุกสิ่ง ตามที่ได้ทรงตริตรองไว้สมกับพระทัยของพระองค์” มีหลายคนที่คัดค้านเกี่ยวกับเรื่องการทรงเลือกล่วงหน้าอย่างรุนแรง แต่การทรงเลือกล่วงหน้าเป็นคำสอนในพระคัมภีร์ สิ่งสำคัญก็คือการเข้าใจว่าการทรงเลือกล่วงหน้านั้นพระคัมภีร์หมายความว่าอะไร
คำว่า “เลือกล่วงหน้า” ข้างต้นมาจากคำว่า “prooizo” ในภาษากรีก ซึ่งหมายความว่า “กำหนดล่วงหน้า” “บัญญัติ” “ตัดสินใจไว้แล้ว” ดังนั้นการทรงเลือกล่วงหน้า คือการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น พระเจ้าทรงกำหนดอะไรไว้ล่วงหน้าหรือ? หนังสือโรม 8:29-30 บอกว่าพระเจ้าทรงตั้งคนบางคนไว้ให้เป็นตามลักษณะพระฉายแห่งพระบุตรของพระองค์, ทรงเรียก, ทรงโปรดให้เป็นผู้ชอบธรรม, และทรงโปรดให้มีสง่าราศีด้วย จุดสำคัญคือ พระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าคนบางคนจะได้รับความรอด มีข้อพระคัมภีร์มากมายที่บอกว่าผู้เชื่อในพระคริสต์คือผู้ที่ถูกเลือก (มัทธิว 24:22, 31; มาระโก 13:20, 27; โรม 8:33; 9:11; 11:5-7,28; เอเฟซัส 1:11; โคโลสี 3:12; 1 เธสะโลนิกา 1:4; 1 ทิโมธี 5:21; 2 ทิโมธี 2:10; ทิตัส 1:1; 1 เปโตร 1:1-2; 2:9; 2 เปโตร1:10) การทรงเลือกล่วงหน้าเป็นคำสอนในพระคัมภีร์ที่ว่าพระเจ้า – ในความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระองค์ - ทรงเลือกคนบางคนไว้ล่วงหน้าให้ได้รับความรอด
ข้อโต้แย้งที่เป็นที่รู้กันดีเกี่ยวกับเรื่องการทรงเลือกล่วงหน้าคือมันไม่ยุติธรรม ทำไมพระเจ้าทรงต้องเลือกคนบางคนและไม่เลือกคนบางคนด้วย? แต่เรื่องสำคัญที่เราจะต้องจำไว้คือ ไม่มีใครสมควรที่จะได้รับความรอดเลยสักคนเดียว เราทุกคนทำบาป (โรม 3:23) และสมควรที่จะได้รับโทษนิรันดร์ (โรม 6:23) ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่พระเจ้าผู้ทรงยุติธรรมจะอนุญาตให้พวกเราทุกคนตกอยู่ในบึงไฟนรกชั่วนิรันดร์ แต่พระเจ้าทรงเลือกที่จะช่วยให้พวกเราบางคนรอด นี่ไม่ใช่เพราะพระองค์ทรงไม่ยุติธรรมกับคนที่ไม่ได้รับเลือก แต่เพราะพวกเขาสมควรจะได้รับสิ่งนั้นอยู่แล้ว การที่พระเจ้าทรงเลือกให้พระคุณแก่คนบางคนไม่ใช่เรื่องไม่ยุติธรรม ไม่มีใครสมควรที่จะได้รับอะไรจากพระเจ้า – ดังนั้นไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้หากเขาไม่ได้รับอะไรจากพระเจ้า ยกตัวอย่างเช่นหากมีคนอยู่ 20 คน แต่ข้าพเจ้าเลือกที่จะแจกเงินให้กับคนเพียง 5 คนเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นคนอีก 15 คนจะโกรธไหม? คงโกรธ แต่พวกเขามีสิทธิโกรธไหม? ไม่มี ทำไมจึงไม่มี? เพราะข้าพเจ้าไม่ได้เป็นหนี้คนเหล่านั้น ข้าพเจ้าเพียงแต่เลือกที่จะเมตตาคนบางคนเท่านั้น
หากพระเจ้าทรงเลือกว่าจะให้ใครได้รับความรอด มันจะไม่เป็นการทำให้คุณค่าของเสรีภาพในการเลือกและเชื่อพระคริสต์ของเราน้อยลงไปหรือ? พระคัมภีร์บอกว่าเรามีอิสระในการเลือก - ทั้งหมดที่เราจะต้องทำคือเชื่อในพระเยซูคริสต์เท่านั้น แล้วเราก็จะรอด (ยอห์น 3:16; โรม 10:9-10) พระคัมภีร์ไม่เคยบอกว่าพระเจ้าทรงปฏิเสธผู้ที่เชื่อในพระองค์ หรือไล่คนที่อยากติดตามพระองค์ไปเสีย (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:29) อย่างไรก็ตาม, ในความล้ำลึกของพระเจ้า, การทรงเลือกล่วงหน้าทำงานคู่ไปกับการดึงดูดมนุษย์ให้เข้าหาพระองค์ (ยอห์น 6:44) และการเชื่อในความรอดของเขา (โรม 1:16) พระเจ้าทรงเลือกล่วงหน้าว่าจะให้ใครได้รับความรอด และเราจะต้องเลือกพระคริสต์เพื่อที่จะได้รับความรอด ความจริงทั้งคู่ถูกต้องพอกัน โรม 11:33 กล่าวว่า “โอ พระปัญญาและความรอบรู้ของพระเจ้านั้นล้ำลึกเท่าใด คำตัดสินของพระองค์นั้นเหลือที่จะหยั่งรู้ได้ และทางของพระองค์ก็เหลือที่จะสืบเสาะได้”
การทรงเลือกล่วงหน้าคืออะไร? การทรงเลือกล่วงหน้าถูกต้องตามพระคัมภีร์ไหม?
แผนงานบริหารของพระเจ้าคืออะไรและมันถูกต้องตามพระคัมภีร์ไหม?
คำถาม: แผนงานบริหารของพระเจ้าคืออะไรและมันถูกต้องตามพระคัมภีร์ไหม?
คำตอบ: ความเชื่อในแผนงานบริหารของพระเจ้า คือ ระบบศาสนศาสตร์ที่มีความโดดเด่นอยู่สองประการ คือ 1) การยึดมั่นในการตีความหมายข้อพระคัมภีร์ตามตัวอักษรอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคำพยากรณ์, 2) ความแตกต่างอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอิสราเอลและคริสตจักรในระเบียบวาระของพระเจ้า.
(1) ผู้ที่เชื่อในแผนงานบริหารของพระเจ้าอย่างเหนียวแน่นอ้างว่าหลักการของพวกเขาเกี่ยวกับการตีความหมายคำพูด หรือสิ่งที่บุคคลพูดตามสภาพการณ์ในขณะนั้น ๆ เป็นการตีความหมายตรงตัวตามคำพูด “การตีความหมายตรงตัวตามคำพูด” หมายถึงการตีความหมายของคำแต่ละคำตามที่มันควรจะเป็นในภาษาที่ใช้กันในทุกวัน สัญลักษณ์, สำนวน และคำอุปมา ต่าง ๆ ถูกแปลอย่างเรียบง่ายโดยวิธีนี้ และไม่มีทางที่จะมีความหมายขัดแย้งกับคำแปลที่ตรงตัวตามลายลักษณ์อักษร สัญลักษณ์และคำอุปมาทุกคำมีความหมายตรงตัวซ่อนอยู่ทั้งนั้น
มีเหตุผลอย่างน้อยสามประการว่าทำไมวิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการอ่านพระคัมภีร์ ประการแรกคือ ตามหลักปรัชญาแล้ว วัตถุประสงค์ของภาษาโดยตัวของมันเองดูเหมือนว่าจะต้องการให้เราตีความหมายของมันอย่างตรงตัวตามคำพูด ภาษาถูกให้มาโดยพระเจ้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการสื่อสารกับมนุษย์ เหตุผลประการที่สองคือเหตุผลทางด้านพระคัมภีร์ คำพยากรณ์ทุกคำเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในพันธสัญญาเดิมถูกทำให้สำเร็จลงตามตัวอักษรที่เขียนไว้ การบังเกิดของพระเยซู, พันธกิจของพระเยซู, การวายพระชนม์ของพระเยซู, การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตรงตัวไม่ผิดเพี้ยนอย่างที่พันธสัญญาเดิมได้พยากรณ์เอาไว้ ไม่มีคำพยากรณ์ใดที่ไม่เกิดขึ้นในพันธสัญญาใหม่ถูกต้องตรงตัวโดยไม่ผิดเพี้ยนอย่างที่พันธสัญญาเดิมได้พยากรณ์เอาไว้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นตัวยืนยันอย่างแรงถึงวิธีตีความหมายอย่างตรงตัวตามตัวอักษร หากการตีความหมายอย่างตรงตัวตามลายลักษณ์อักษรไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาพระคัมภีร์ เราก็จะไม่มีจุดมุ่งหมายที่เป็นมาตรฐานให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ได้ ทุกคนก็จะตีความหมายพระคัมภีร์ตามใจชอบ แล้วการตีความหมายพระคัมภีร์ก็จะกลายเป็น “ข้อพระคัมภีร์นี้ฉันแปลว่า…” แทนที่จะเป็น “พระคัมภีร์กล่าวว่า …” เป็นที่น่าเสียใจว่าการตีความหมายพระคัมภีร์แบบนี้เป็นที่แพร่หลายในคริสตจักรในปัจจุบัน
2) ศาสนศาสตร์ระบบแผนงานบริหารของพระเจ้า เชื่อว่าคนของพระเจ้ามีอยู่สองกลุ่ม คือ คนอิสราเอลและคริสตจักร ผู้ที่เชื่อในระบบแผนงานบริหารของพระเจ้าอย่างเหนียวแน่นเชื่ออว่าความรอดเกิดขึ้นโดยความเชื่อ (ในพระเจ้าในพันธสัญญาเดิม และโดยเฉพาะในพระเจ้าพระบุตรในพันธสัญญาใหม่) เสมอมา ) ผู้ที่เชื่อในศาสนศาสตร์ระบบแผนงานบริหารของพระเจ้าเชื่อมั่นว่าคริสตจักรไม่เคยได้เข้ามาแทนที่คนอิสราเอลในแผนงานของพระเจ้า และคำสัญญาในพันธสัญญาเดิมไม่เคยได้ถูกยกให้คริสตจักรเลย พวกเขาเชื่อว่าพระสัญญาของพระเจ้าที่ทรงให้ไว้กับคนอิสราเอล (เกี่ยวกับแผ่นดินที่อยู่อาศัย, พงศ์พันธุ์ที่มากมาย, และพระพร) ในพันธสัญญาเดิมในที่สุดจะถูกทำให้สำเร็จลงในช่วงระยะเวลา 1000 ปีที่หนังสือวิวรณ์ข้อ 20 ได้บอกไว้ พวกเขาเชื่อว่า ดังที่ในขณะนี้ พระเจ้ากำลังทรงเน้นความสนใจของพระองค์ไปยังคริสตจักร พระองค์จะทรงเน้นความสนใจของพระองค์ไปยังชนชาติอิสราเอลเช่นกันในอนาคต (โรม 9-11)
ด้วยการยึดถือระบบนี้เป็นบรรทัดฐาน ผู้ที่เชื่อในศาสนศาสตร์ระบบแผนงานบริหารของพระเจ้าเข้าใจว่าพระคัมภีร์ถูกแบ่งออกเป็นเจ็ดยุคคือ: ความซื่อบริสุทธิ์ (ปฐมกาล 1:1 – 3:7), สติรู้สึกผิดชอบ (ปฐมกาล 3:8 – 8:22), การปกครองโดยมนุษย์ (ปฐมกาล 9:1 – 11:32), พระสัญญา (ปฐมกาล 12:1 – อพยพ 19:25), ธรรมบัญญัติ (อพยพ 20:1 – กิจการ 2:4), พระคุณ (กิจการ 2:4 – วิวรณ์ 20:3), และอาณาจักรพันปี (วิวรณ์ 20:4 – 20:6) แต่การแบ่งยุคเช่นนี้ไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความรอด มันแค่เป็นวิธีที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อสื่อกับมนุษย์เท่านั้น ความเชื่อว่าพระเจ้าได้ทรงเปิดเผยสำแดงผ่านระบบเจ็ดยุค เมื่อดูตามรูปแบบ มันลงเอยที่การตีความหมายว่าพระคริสต์จะเสด็จมาครั้งที่สองก่อนยุค 1000 ปี และการรับ (ผู้เชื่อ) ขึ้น (ไปบนสวรรค์) ก่อนกลียุคนั่นเอง
แผนงานบริหารของพระเจ้าคืออะไรและมันถูกต้องตามพระคัมภีร์ไหม?
ระหว่างความเชื่อแบบแคลวิน และ ความเชื่อแบบอามินัส – ความเชื่อแบบไหนถูก?
คำถาม: ระหว่างความเชื่อแบบแคลวิน และ ความเชื่อแบบอามินัส – ความเชื่อแบบไหนถูก?
คำตอบ: ความเชื่อแบบแคลวิน และ ความเชื่อแบบอามินัสเป็นหลักศาสนศาสตร์สองระบบที่พยายามจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระเจ้าและความรับผิดชอบของมนุษย์ที่เกี่ยวกับความรอด ความเชื่อแบบแคลวินถูกตั้งตามชื่อของจอห์น แคลวิน, นักศาสนศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ 1509-1564 ส่วนความเชื่อแบบอามินัสถูกตั้งตามชื่อของยาโคบัส อาร์มินิอัส, นักศาสนศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ 1560-1609
ความเชื่อทั้งสองระบบสามารถสรุปได้ห้าข้อ ความเชื่อแบบแคลวินถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมทรามหมด แต่ความเชื่อแบบอามินัสถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมทรามลงเป็นบางส่วนเท่านั้น ความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมทรามหมด ถือว่ามนุษย์แปดเปื้อนไปด้วยความบาปในทุกด้าน ดังนั้นมนุษย์จึงไม่สามารถมาถึงพระเจ้าด้วยตัวเองได้ ส่วนความเชื่อที่ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมทรามลงเป็นบางส่วน เชื่อว่าถึงแม้ว่ามนุษย์แปดเปื้อนด้วยความบาปในทุกด้านก็จริง แต่ก็ไม่ถึงกับว่าพวกเขาจะเข้าถึงพระเจ้าด้วยตัวเองไม่ได้
ผู้ที่มีความเชื่อแบบแคลวินยึดมั่นในการทรงเลือกที่ไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่กลุ่มอาร์มินัสเชื่อในการทรงเลือกที่มีเงื่อนไข ผู้ที่เชื่อในการทรงเลือกโดยไม่มีเงื่อนไขเชื่อว่าพระเจ้าทรงเลือกมนุษย์เฉพาะรายให้ได้รับความรอดตามน้ำพระทัยของพระองค์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นอีกในมนุษย์ที่เป็นแรงจูงใจ ส่วนผู้ที่เชื่อว่าการทรงเลือกมีเงื่อนไข ถือว่าพระเจ้าทรงเลือกคนบางคนให้ได้รับความรอดโดยทรงรู้ล่วงหน้าว่าใครจะเชื่อในพระคริสต์บ้างเกี่ยวกับเรื่องความรอด
กลุ่มแคลวินเชื่อว่าการถวายบูชาลบบาปมีความจำกัด ส่วนกลุ่มอาร์มินัสเชื่อว่าการถวายบูชาลบบาปไม่มีความจำกัด ความเชื่อข้อนี้เป็นข้อที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในจำนวนห้าข้อ การถวายบูชาลบบาปที่มีความจำกัดคือความเชื่อที่ว่าพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคนที่ได้รับการทรงเลือกมาเท่านั้น ส่วนความเชื่อที่ว่าการถวายบูชาลบบาปไม่มีความจำกัด คือความเชื่อที่ว่าพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อคนทุกคน แต่การวายพระชนม์จะไม่มีผลจนกว่าคน ๆ นั้นจะเกิดความเชื่อขึ้นมา
กลุ่มแคลวินเชื่อในพระคุณที่ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางได้ ส่วนกลุ่มอาร์มินัสเชื่อในพระคุณที่สามารถถูกขัดขวางได้ ผู้ที่เชื่อว่าพระคุณไม่มีอะไรจะมาขัดขวางได้ถกว่าเมื่อพระเจ้าทรงเลือกใครคนใดคนหนึ่งให้ได้รับความรอด คน ๆ นั้นก็ไม่มีทางหนีได้ ส่วนผู้ที่เชื่อว่าพระคุณสามารถูกขัดขวางได้บอกว่าพระเจ้าทรงเรียกทุกคนให้ได้รับความรอด แต่มีคนเป็นจำนวนมากขัดขืนและปฏิเสธการทรงเรียกนี้
กลุ่มแคลวินเชื่อในความอดทนนานของธรรมมิกชนในขณะที่กลุ่มอาร์มินัสเชื่อในความรอดที่มีเงื่อนไข ความอดทนนานของธรรมมิกชนหมายถึงแนวความคิดที่ว่าผู้ที่ถูกเลือกโดยพระเจ้าจะยึดมั่นในความเชื่อและจะไม่มีวันปฏิเสธพระคริสต์หรือหันหลังให้กับพระองค์เลย ส่วนความรอดที่มีเงื่อนไขคือมุมมองที่ว่าผู้เชื่อในพระคริสต์เป็นอิสระและสามารถเลือกที่จะหันหลังให้กับพระคริสต์ได้ และด้วยเหตุนี้เขาจึงสามารถสูญเสียความรอดได้
ดังนั้นในการถกเถียงกันว่าระหว่างความเชื่อแบบแคลวินกับอาร์มินัสนั้นความเชื่อแบบไหนถูก มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าในพระกายของพระคริสต์ที่มีความหลากหลาย มีความเชื่อทั้งแบบแคลวินและอาร์มินัสผสมผสานกันอยู่ ผู้ที่เลือกเชื่อแบบแคลวินทั้งห้าข้อก็มี ผู้ที่เลือกเชื่อแบบอาร์มินัสทั้งห้าข้อก็มี ผู้ที่เลือกเชื่อแบบแคลวินสามข้อแบบอาร์มินัสสองข้อก็มี ผู้เชื่อหลายคนมีความเชื่อทั้งแบบแคลวินและอาร์มินัสผสมกัน ท้ายที่สุด – มุมมองของเราผู้ตอบคำถามนี้ - เราเชื่อว่าความเชื่อทั้งหมดพลาดเป้าหมายไปในแง่ที่ว่าพวกเขาพยายามอธิบายอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจเรื่องเช่นนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช่แล้วพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่สูงสุดและทรงสัพพัญญูญาณ ใช่แล้วมนุษย์ถูกเรียกให้เลือกอย่างจริงใจว่าเขาจะวางใจในพระคริสต์สำหรับความรอดหรือไม่ ความจริงทั้งสองข้อนี้ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกันอยู่สำหรับเรา แต่ในความคิดของพระเจ้ามันมีเหตุผลสมบูรณ์ที่สุด
ระหว่างความเชื่อแบบแคลวิน และ ความเชื่อแบบอามินัส – ความเชื่อแบบไหนถูก?
ความเชื่อเกี่ยวกับยุคก่อนพันปีคืออะไร?
คำถาม: ความเชื่อเกี่ยวกับยุคก่อนพันปีคืออะไร?
คำตอบ: ความเชื่อเกี่ยวกับยุคก่อนพันปีคือความเชื่อที่ว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์จะเกิดขึ้นก่อนอาณาจักรพันปีของพระองค์จะมาถึง และพระองค์จะทรงปกครองอาณาจักรพันปีเป็นเวลา 1,000 ปีตามที่พระคัมภีร์เขียนไว้ เพื่อที่เราจะเข้าใจและตีความหมายข้อพระคัมภีร์ที่พูดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคสุดท้ายได้ มีสองประการที่เราจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อน นั่นคือ 1. วิธีตีความหมายข้อพระคัมภีร์ที่เหมาะสม และ 2 . ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างชนชาติอิสราเอล (คนยิว) และ คริสตจักร (ผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ทุกคน)
ประการแรก วิธีตีความหมายของพระคัมภีร์ที่ถูกต้อง คือ ข้อพระคัมภีร์จะต้องถูกตีความหมายตรงกับท้องเรื่อง นั้นหมายความว่าข้อพระคัมภีร์จะต้องถูกตีความหมายตามความเข้าใจของผู้ที่พระคัมภีร์ข้อนั้นเขียนถึง, และเขียนเกี่ยวกับ, ใครเป็นผู้เขียน เป็นต้น มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้ว่าผู้เขียนเป็นใคร, เขาเขียนถึงใคร, และประวัติศาสตร์เบื้องหลังข้อพระคัมภีร์นั้นเป็นอย่างไร มีหลายครั้งที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังจะเปิดเผยความหมายที่ถูกต้องของข้อพระคัมภีร์นั้นเอง เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราจะต้องจำไว้คือข้อพระคัมภีร์จะตีความหมายข้อพระคัมภีร์ด้วยกันเอง นั่นคือ, มีหลายครั้งที่ข้อความในตอนหนึ่งจะคลุมไปถึงหัวข้อหรือเรื่องราวเดียวกันในอีกตอนหนึ่ง ที่สำคัญคือเราจะต้องตีความหมายข้อพระคัมภีร์ทุกตอนเหล่านั้นให้ตรงกันด้วย
ท้ายที่สุด และสำคัญที่สุด คือ ข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ จะต้องถูกตีความหมายอย่างธรรมดา, สม่ำเสมอ, เรียบง่าย และตรงตามที่เขียน นอกจากว่าข้อความนั้นจะเป็นคำอุปมาเท่านั้น การตีความหมายตรงตามตัวอักษรไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้คำเปรียบเทียบไม่ได้ อันที่จริงแล้วคำเปรียบเทียบช่วยไม่ให้ผู้ตีความหมายแปลเนื้อความของคำอุปมาว่าเป็นความหมายของข้อพระคัมภีร์ นอกจากว่ามันจะเหมาะสมสำหรับท้องเรื่องเท่านั้น ที่สำคัญคือผู้แปลจะต้องไม่พยายามค้นหาความหมายที่ “ลึกขึ้น, หรือเกี่ยวกับฝ่ายวิญญาณมากขึ้น” เกินกว่าที่ข้อพระคัมภีร์เองได้กล่าวไว้ การตีความหมายแบบนั้นเป็นเรื่องอันตราย เพราะมันจะทำให้ผู้อ่านมัวแต่คิดถึงมาตรฐานการตีความหมายที่ถูกต้องแทนที่จะคิดถึงข้อพระคัมภีร์เอง และมันจะทำให้การตีความหมายไม่มีเป้าหมายที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังทำให้ผู้ตีความหมายแปลความหมายข้อพระคัมภีร์ตามใจตัวเองด้วย ข้อพระคัมภีร์ 2 เปโตร 1:20-21 เตือนเราว่า “…: คือผู้หนึ่งผู้ใดจะตีความหมายคำของผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เอาเองไม่ได้ เพราะว่าคำของผู้เผยพระวจนะนั้น ไม่ได้มาจากความคิดในจิตใจของมนุษย์ แต่มนุษย์ได้กล่าวคำซึ่งมาจากพระเจ้า ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงดลใจเขา”
เมื่อนำหลักการนี้มาใช้ เราจะเห็นว่าคนอิสราเอล (ลูกหลานโดยตรงของอับราฮัม) และคริสตจักร (ผู้เชื่อทุกคน) เป็นคนสองกลุ่มที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือเราจะต้องรับรู้และเข้าใจว่าคนอิสราเอลและคริสตจักรเป็นกลุ่มคนคนละกลุ่ม เพราะหากมีการเข้าใจผิด ข้อพระคัมภีร์ก็จะต้องถูกตีความหมายผิดไปด้วย โดยเฉพาะข้อพระคัมภีร์ที่พูดถึงพระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้กับคนอิสราเอล (ทั้งที่สำเร็จลงแล้วและยังไม่สำเร็จ) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกตีความหมายผิด อยู่แล้วหากผู้ตีความหมายพยายามที่จะแปลให้มันเข้ากับคริสตจักร หรือเข้ากับคนอิสราเอล จงจำไว้ว่าข้อความในบริบทนั้น ๆ จะเป็นตัวตัดสินเองว่าข้อความนั้นเขียนถึงใคร และมันจะบอกเองว่าการตีความหมายที่ถูกต้องควรมีทิศทางไปทางไหน!
เมื่อเข้าใจแล้ว เราจะมาดูกันที่ข้อพระคัมภีร์หลาย ๆ ข้อที่พูดเกี่ยวกับยุคก่อนพันปี ให้เราเริ่มต้นกันที่หนังสือปฐมกาลบทที่ 12 ข้อ 1-3 “พระเจ้าตรัสแก่อับรามแล้วว่า "เจ้าจงออกจากเมือง จากญาติพี่น้อง จากบ้านบิดาของเจ้า ไปยังแผ่นดินที่เราจะบอกให้เจ้ารู้ เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรแก่เจ้า ทำให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โตเลื่องลือไปแล้วเจ้าจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร เราจะอำนวยพรแก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า"
ในที่นี้พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมไว้สามประการ คือ อับราฮัมจะมีลูกหลานมากมาย, ประชาชาติของเขาจะเป็นเจ้าของและเข้าครอบครองแผ่นดินหนึ่ง และพระพรจะมาถึงคนทั่วแผ่นดินโลกเพราะพงศ์พันธุ์ของอับราฮัม (คนยิว) ในหนังสือปฐมกาล 15:9-17 พระเจ้าทรงยืนยันพระสัญญากับอับราฮัม วิธีของพระองค์คือ พระเจ้าทรงรับผิดชอบพระสัญญาทั้งหมด นั่นคือไม่มีอะไรที่อับราฮัมจะทำได้หรือไม่ได้เพื่อให้พระสัญญาเป็นโมฆะ และในข้อพระคัมภีร์นี้พระเจ้าได้ทรงกำหนดขอบเขตของดินแดนที่คนยิวจะได้เข้าครอบครองเอาไว้ สำหรับรายละเอียดของขอบเขตของดินแดนผืนนั้น จงดูหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติข้อ 34 ส่วนข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ ที่พูดถึงดินแดนแห่งพันธสัญญา จงดู เฉลยธรรมบัญญัติ 30:3-5 และ เอเสเคียล 20:42-44
หนังสือ 2 ซามูเอลบทที่ 7 พูดเกี่ยวกับการครอบครองของพระคริสต์ในระหว่างยุคพันปี หนังสือ 2 ซามูเอล ข้อ 11-17 บันทึกพระสัญญาที่พระเจ้าได้ทรงกระทำกับกษัตริย์ดาวิด ที่นี่พระเจ้าทรงสัญญาว่าดาวิดจะมีพงศ์พันธุ์มากมาย และจากพงศ์พันธุ์นี้พระเจ้าจะทรงสถาปนาอาณาจักรนิรันดร์ขึ้น พระสัญญานี้หมายถึงการครอบครองของพระคริสต์ในระหว่างช่วงพันปีและตลอดไป ที่สำคัญคือเราจะต้องจำไว้ว่าพระสัญญานี้จะเกิดขึ้นจริงแต่มันยังไม่เกิดขึ้นเท่านั้น บางคนเชื่อว่าการครอบครองของกษัตริย์โซโลมอนคือพระสัญญาที่สำเร็จลง แต่ความเชื่อนี้มีปัญหาว่าอาณาจักรที่กษัตริย์โซโลมอนเคยทรงครอบครองนั้นไม่ได้เป็นของคนอิสราเอลในปัจจุบัน และกษัตริย์โซโลมอนก็ไม่ได้ทรงครอบครองคนอิสราเอลในขณะนี้เช่นกัน! จงจำไว้ว่าพระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมว่าพงพันธุ์ของท่านจะได้ครอบครองแผ่นดินหนึ่งตลอดไป แต่พระสัญญานี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น และหนังสือ 2 ซามูเอล 7 บอกว่าพระเจ้าจะสถาปนากษัตริย์ผู้ที่จะทรงครอบครองชั่วนิรันดร์ ดังนั้นกษัตริย์โซโลมอนจึงไม่น่าจะใช่ผู้ที่ทำให้พระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้กับกษัตริย์ดาวิดสำเร็จลง ดังนั้นพระสัญญาข้อนี้ยังคงรอคอยเวลาที่จะสำเร็จลงอยู่!
เมื่อเราจำเรื่องทั้งหมดนี้ได้แล้ว ให้เราดูว่าหนังสือวิวรณ์ 20:1-7 บันทึกอะไรไว้บ้าง “แล้วข้าพเจ้าเห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งลงมาจากสวรรค์ ท่านถือลูกกุญแจของบาดาลนั้น และถือโซ่ใหญ่ และท่านได้จับพญานาคซึ่งเป็นงูดึกดำบรรพ์ ผู้ซึ่งเป็นพญามารและซาตานและมัดมันไว้พันปี แล้วทิ้งมันลงไปในบาดาลนั้น แล้วได้ลั่นกุญแจประทับตรา เพื่อไม่ให้มันล่อลวงบรรดาประชาชนได้อีกต่อไป จนครบกำหนดพันปีแล้วจึงจะต้องปล่อยมันออกไปชั่วขณะหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เห็นบัลลังก์หลายบัลลังก์ และผู้ที่นั่งบนบัลลังก์นั้น เป็นผู้ที่จะพิพากษา และข้าพเจ้ายังได้เห็นดวงวิญญาณของคนทั้งปวงที่ถูกตัดศีรษะ เพราะเป็นพยานของพระเยซู และเพราะพระวจนะของพระเจ้า และเป็นผู้ที่ไม่ได้บูชาสัตว์ร้ายนั้นหรือรูปของมัน และไม่ได้ติดเครื่องหมายของมันไว้ที่หน้าผากหรือที่มือของเขา คนเหล่านั้นกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ และได้ครอบครองร่วมกับพระคริสต์เป็นเวลาพันปี นอกจากคนเหล่านี้คนอื่นๆ ที่ตายแล้วไม่ได้กลับมีชีวิตอีกจนกว่าจะครบกำหนดพันปี นี่แหละคือการฟื้นจากความตายครั้งแรก ผู้ใดที่ได้มีส่วนในการฟื้นจากความตายครั้งแรกก็เป็นสุขและบริสุทธิ์ ความตายครั้งที่สองจะไม่มีอำนาจเหนือคนเหล่านั้น แต่เขาจะเป็นปุโรหิตของพระเจ้าและของพระคริสต์ และจะครอบครองร่วมกับพระองค์ตลอดเวลาพันปี ครั้นพันปีล่วงไปแล้ว ก็จะปล่อยซาตานออกจากคุกที่ขังมันไว้”
เวลาหนึ่งพันปีที่ข้อพระคัมภีร์วิวรณ์ 20:1-7 พูดถึงหลายครั้ง ตรงกับช่วงเวลาครองราชย์ 1000 ปีของพระคริสต์บนโลกตามที่พระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ จงนึกถึงพระสัญญาที่ทรงให้ไว้กับดาวิดเกี่ยวกับผู้ครอบครอง ที่จะต้องเกิดขึ้นแต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นตามที่พระคัมภีร์เขียนไว้ ผู้ที่เชื่อในยุคก่อนพันปีมองข้อพระคัมภีร์นี้ว่าเป็นคำอธิบายพระสัญญาที่จะสำเร็จลงในอนาคตโดยมีพระคริสต์เป็นผู้ครองครองบัลลัง พระเจ้าทรงสัญญาแบบไม่มีเงื่อนไขกับอับราฮัมและดาวิด พระสัญญาเหล่านี้ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์หรือถาวร ทางเดียวที่พระสัญญาจะสำเร็จลงได้ คือ ได้เห็นการครองบัลลังก์ของพระคริสต์ดังที่พระคัมภีร์บันทึกไว้เท่านั้น
การนำวิธีตีความหมายตามตัวอักษรมาใช้กับข้อพระคัมภีร์ ทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของภาพปริศนาต่อเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น คำพยากรณ์ทั้งหมดในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งแรกของพระคริสต์ได้เกิดขึ้นแล้วตามที่พระคัมภีร์เขียนไว้ ดังนั้นเราจึงควรคาดหวังว่าคำพยากรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองจะสำเร็จลงเช่นกัน ความเชื่อในยุคก่อนพันปีเป็นระบบเดียวที่เห็นด้วยกับการตีความหมายตามตัวอักษรเกี่ยวกับพระสัญญาของพระเจ้าและการเผยพระวจนะเกี่ยวกับยุคสุดท้าย
ความเชื่อเกี่ยวกับยุคก่อนพันปีคืออะไร?
โลกทัศน์ของคริสเตียนคืออะไร?
คำถาม: โลกทัศน์ของคริสเตียนคืออะไร?
คำตอบ: โลกทัศน์หมายถึงแนวความคิดอันกว้างขวางเกี่ยวกับโลกจากมุมมองที่จำเพาะเจาะจง ดังนั้นโลกทัศน์ของคริสเตียนคือแนวความคิดเกี่ยวกับโลกจากมุมมองของคริสเตียน โลกทัศน์ของคน ๆ หนึ่งคือ “ภาพรวม” ของเขาที่ความเชื่อเกี่ยวกับโลกทั้งหมดสอดคล้องกันเป็นอย่างดี มันเป็นวิธีเข้าใจสภาพที่เป็นจริงของเขา โลกทัศน์คือพื้นฐานในการตัดสินใจในแต่ละวัน ดังนั้นมันจึงสำคัญมาก
มีแอบเปิ้ลลูกหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะโดยมีคนหลายคนมองเห็น เมื่อนักพฤกษศาสตร์เห็นมันเขาก็จัดประเภทให้มัน ศิลปินมองว่ามันเป็นภาพนิ่งที่มีชีวิตแล้วลงมือวาดรูปมัน คนขายของชำมองว่ามันเป็นสินทรัพย์แล้วนับมันรวมเข้าไปในรายการสิ่งของในร้าน เด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมองว่ามันเป็นอาหารแล้วหยิบมันขึ้นมากิน ดังนั้นการที่เราจะมองสถานการณ์อะไรอย่างหนึ่งว่าเป็นอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับว่าเรามีโลกทัศน์อย่างไร โลกทัศน์ทุกโลกทัศน์ ไม่ว่าผู้มองจะเป็น คริสเตียนหรือไม่ เกี่ยวข้องกับคำถามอย่างน้อยสามคำถามดังต่อไปนี้:
1) เรามาจากไหน? (และเพราะอะไรเราจึงมาอยู่ที่นี่?)
2) โลกนี้มีปัญหาอะไร?
3) เราจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร?
โลกทัศน์ของคนในปัจจุบันคือความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นคำตอบของคำถามสามคำถามดังนี้: 1. เราเป็นผลโดยบังเอิญจากธรรมชาติโดยไม่มีเป้าหมายอะไรที่แท้จริง 2. เราไม่ได้เคารพธรรมชาติอย่างที่เราควรทำ 3. เราสามารถช่วยโลกได้โดยการรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ โลกทัศน์ของผู้ที่ยึดธรรมชาติเป็นหลัก คือที่มาของหลักปรัชญาหลายอย่าง เช่น ปรัชญาเกี่ยวกับคุณธรรม, ปรัชญาเกี่ยวกับการดำรงอยู่, ปรัชญาที่แสดงการเกี่ยวพันของเหตุการณ์ และ ปรัชญาเกี่ยวกับโลกที่มีแต่ความสุข เป็นต้น
ในทางกลับกัน โลกทัศน์ของคริสเตียน ตอบคำถามสามคำถามตามแนวพระคัมภีร์ดังนี้: 1. เราเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสร้าง, เราถูกสร้างให้ปกครองโลกและมีความสัมพันธ์กับพระองค์ (ปฐมกาล 1:27-28; 2:15), 2. เราทำบาปต่อพระเจ้าและทำให้คนทั้งโลกตกอยู่ในคำแช่งสาป (ปฐมกาลบทที่ 3), 3. พระเจ้าทรงไถ่โลกด้วยพระองค์เองโดยผ่านทางการเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ (ปฐมกาล 3:15; ลูกา 19:10) และในวันหนึ่งพระองค์จะทรงนำมนุษย์ให้กลับคืนมาสู่สภาพดีพร้อม (อิสยาห์ 65:17-25) โลกทัศน์ของคริสเตียนนำให้เราเชื่อในคุณธรรมสมบูรณ์, การอัศจรรย์, ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และการไถ่ถอนที่เป็นไปได้
มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องจำไว้ว่าโลกทัศน์ของคนส่วนใหญ่เป็นโลกทัศน์ที่ กว้างขวาง มันมีผลต่อทุกพื้นที่ในชีวิต, ตั้งแต่เรื่องเงินไปจนถึงเรื่องคุณธรรม, จากการเมืองจนถึงศิลปะ ความเชื่อแท้ของคริสเตียนเป็นมากกว่าแนวความคิดเป็นชุด ๆ ในคริสตจักร ความเชื่อของคริสเตียนตามที่พระคัมภีร์สอนคือโลกทัศน์ในตัว พระคัมภีร์ไม่เคยมีข้อแบ่งแยกระหว่างชีวิตที่ “เคร่งในศาสนา” หรือ ชีวิต “ในทางโลก” ชีวิตคริสเตียนคือชีวิตเดียวที่มีอยู่พระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรง “เป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6) และในการทำให้มันเป็นเช่นนั้นมันจึงกลายเป็นโลกทัศน์ของเรา
โลกทัศน์ของคริสเตียนคืออะไร?