คำถามเกี่ยวกับชีวิตคริสเตียน



คำถามเกี่ยวกับชีวิตคริสเตียน





คำถามเกี่ยวกับชีวิตคริสเตียน

การเป็นคริสเตียนคืออะไร?




คำถาม: การเป็นคริสเตียนคืออะไร?

คำตอบ:
พจนานุกรมฉบับเวบสเตอร์ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าคริสเตียน ว่า “คนที่แสดงความเชื่อในพระเยซูว่าทรงเป็นพระคริสต์ หรือในศาสนาที่มีคำสอนของพระเยซูเป็นหลัก” คำว่าคริสเตียนถูกนำมาใช้สามครั้งในพันธสัญญาใหม่ (กิจการ 11:26; กิจการ 26:28; 1 เปโตร 4:16) ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ถูกเรียกเป็นครั้งแรกว่าเป็น “คริสเตียน” ในเมืองอันทิโอก (กิจการ 11:26) ทั้งนี้เพราะความประพฤติ, การกระทำ และ คำพูด ของพวกเขาเหมือนพระคริสต์ เดิมทีมันถูกนำมาใช้โดยผู้ที่ยังไม่ได้รับความรอดที่เมืองอันทิโอก เหมือนกับเป็นชื่อเล่นแบบดูถูก เสมือนคริสเตียนเป็นตัวตลก ความหมายที่แท้จริงของมันคือ “เป็นหนึ่งในคณะของพระคริสต์” หรือ “ผู้ติดตามหรือสาวกของพระคริสต์” ซึ่งคล้ายกันมากกับคำจำกัดความในพจนานุกรมฉบับเวบสเตอร์

เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อเวลาผ่านไป คำว่า “คริสเตียน” ได้สูญเสียความหมายสำคัญไป และ คำว่าคริสเตียนได้ถูกนำมาใช้เรียกคนที่เคร่งศาสนา หรือ มีคุณธรรมสูง แทนที่จะใช้เรียกผู้ที่บังเกิดใหม่ที่ติดตามพระคริสต์ มีหลายคนที่ไม่ได้เชื่อและวางใจในพระเยซูคริสต์ แต่เรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียน เพราะแค่ไปโบสถ์และอยู่ในประเทศที่เป็น “คริสเตียน” เท่านั้น แต่การไปโบสถ์, การปรนนิบัติผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา, หรือการเป็นคนดี ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคริสเตียนได้ ดังที่ครั้งหนึ่งผู้ประกาศข่าวประเสริฐคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า “การไปโบสถ์ไม่ได้ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นคริสเตียนได้ พอ ๆ กับการไปโรงรถ ไม่ได้ทำให้คน ๆ นั้นเป็นรถได้” การไปฟ้งคำเทศนาเป็นประจำ และการร่วมกิจกรรมของคริสตจักร ไม่สามารถทำให้คุณเป็นคริสเตียนได้

พระคัมภีร์สอนว่าการทำการดีไม่ได้ทำให้เราเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า ข้อพระคัมีภีร์ทิตัส 3:5 บอกเราว่า “พระองค์ได้ทรงช่วยเราให้รอด มิใช่ด้วยการกระทำที่ชอบธรรมของเราเอง แต่พระองค์ทรงพระกรุณาชำระให้เรามีใจบังเกิดใหม่ และทรงสร้างเราขึ้นมาใหม่โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ดัีงนั้น คริสเตียน คือ คนที่บังเกิดใหม่โดยพระเจ้า (ยอห์น 3:3; ยอห์น 3:7; 1 เปโตร 1:23) ข้อพระคัมภีร์เอเฟซัส 2:8 บอกเราว่า “ด้วยว่าซึ่งท่านทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อ และมิใช่โดยตัวท่านทั้งหลายเอง แต่พระเจ้าทรงประทานให้” คนที่เป็นคริสเตียนแท้ คือ คนที่กลับใจใหม่และหันหลังให้กับความบาปของตนเอง และวางความเชื่อและความวางใจไว้ที่พระเยซูคริสต์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ความวางใจของเขาไม่ได้อยู่ที่การนับถือศาสนา หรือการมีข้อหลักปฏิบัติ หรือ สิ่งที่ทำได้ ทำไม่ได้ ซึ่งมีรายการบอกไว้เป็นชุด ๆ

คนที่เป็นคริสเตียนแท้ คือ คนที่วางใจและเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ และ เชื่อในข้อเท็จจริงที่ว่า พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปให้กับเรา และทรงฟื้นคืนพระชนม์ในวันที่สาม เพื่อทรงรับชัยชนะเหนือความตาย และทรงประทานชีวิตนิรันดร์ให้กับทุกคนที่เชื่อในพระองค์ ข้อพระคัมภีร์ยอห์น 1:12 บอกเราว่า “แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ พระองค์ทรงประทานอำนาจให้เป็นบุตรของพระเจ้า คือคนทั้งหลายที่เชื่อในพระนามของพระองค์” คริสเตียนแท้คือลูกของพระเจ้าโดยแท้จริง เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของพระเจ้าที่แท้จริง และเป็นผู้ที่ได้รับชีวิตใหม่ในพระคริสต์ ตราประทับของคริสเตียนแท้ คือ ความรักที่มีต่อผู้อื่น และ การเชื่อฟ้งพระวจนะของพระเจ้า (1 ยอห์น 2:4; 1 ยอห์น 2:10).

คุณได้ตัดสินใจเชื่อพระเจ้าเพราะสิ่งที่คุณได้อ่านพบจากที่นี่ใช่หรือไม่? ถ้าใช่.. กรุณาคลิกปุ่ม “ฉันได้รับพระคริสต์เข้ามาในชีวิตตั้งแต่วันนี้”




การเป็นคริสเตียนคืออะไร?

ฉันจะยกโทษให้คนที่ทำร้ายฉันได้อย่างไร?




คำถาม: ฉันจะยกโทษให้คนที่ทำร้ายฉันได้อย่างไร?

คำตอบ:
ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ทุกคนเคยถูกเข้าใจผิด, ถูกทำให้ขุ่นเคืองใจ, ถูกทำร้าย ทั้งนั้น แล้วเราจะตอบสนองอย่างไรเมื่อมันเกิดขึ้น? พระคัมภีร์บอกว่าเราควรให้อภัย หนังสือเอเฟซัส 4:32 บอกว่า “และท่านจงเมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน และอภัยโทษให้กันเหมือนดังที่พระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้แก่ท่านในพระคริสต์นั้น” หนังสือโคโลสี 3:13 ก็พูดคล้าย ๆ กันว่า “จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน และถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงยกโทษให้กันและกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดยกโทษให้ท่านฉันใด ท่านจงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน” หัวข้อหลักในข้อพระคัมภีร์ทั้งสองข้อคือเราต้องยกโทษให้ผู้อื่น เหมือนอย่างที่พระเจ้าได้ทรงยกโทษเรา ทำไมเราจึงต้องต้องยกโทษด้วยเล่า? ก็เพราะเราก็ได้รับการยกโทษด้วยเหมือนกันนั่นเอง!

การยกโทษจะเป็นเรื่องง่ายหากคนที่ทำผิดกับเราเข้ามาขอโทษเราด้วยความเสียใจและสำนึกผิด แต่พระคัมภีร์บอกว่าเราจะต้องยกโทษให้ผู้ที่ทำผิดต่อเราโดยไม่มีเงื่อนไข การไม่ยอมยกโทษแสดงถึงความขุ่นเคืองใจ, ความขมขื่น, และความโกรธ – ซึ่งไม่มีอะไรแสดงถึงลักษณะของคริสเตียนเลย ในคำอธิษฐานของพระเจ้า เราขอให้พระเจ้าทรงยกโทษให้เราเหมือนกับที่เรายกโทษให้คนอื่น (มัทธิว 6:12) พระเยซูตรัสในหนังสือมัทธิว 6:14-15 ว่า “เพราะว่าถ้าท่านยกความผิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ยกความผิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านจะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน” เมื่อพูดถึงข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ ที่พูดถึงการยกโทษของพระเจ้า หนังสือมัทธิว 6:14-15 เป็นหนังสือที่คิดว่าดีที่สุดเกี่ยวกับการไม่ยอมยกโทษให้คนอื่น หนังสือพูดว่าคนที่ไม่ยอมยกโทษให้คนอื่นคือคนที่ไม่เคยรู้จักกับการยกโทษจากพระเจ้าเช่นกัน

เมื่อใดที่เราพลาดเป้าหมายโดยการไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้า เราก็ทำบาปต่อพระองค์ เมื่อใดที่เราทำความผิดต่อผู้อื่น เราไม่เพียงแต่ทำบาปต่อเขาเท่านั้นแต่เราทำบาปต่อพระเจ้าด้วย เมื่อเรามองถึงพระเมตตาอันมากมายมหาศาลของพระเจ้าที่ทรงยกโทษการละเมิดทั้งสิ้นให้เรา เราก็จะรู้ว่าเราไม่มีสิทธิที่จะหวงการให้อภัยเอาไว้ เราได้ทำบาปต่อพระเจ้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดมากกว่าที่คนอื่นเคยทำกับเราทั้งสิ้น หากพระเจ้าทรงยกโทษให้เราได้มากถึงขนาดนั้น ทำไมเราจึงจะยกโทษให้คนอื่นบ้างไม่ได้? คำอุปมาของพระเยซูในหนังสือมัทธิว 18:23-35 เป็นตัวอย่างที่มีพลังมากสำหรับความจริงนี้ พระเจ้าทรงสัญญาว่าเมื่อเราเข้ามาหาพระองค์ขอให้พระองค์ยกโทษให้ พระองค์ก็ทรงยกโทษให้อย่างไม่มีข้อผูกมัด (1 ยอห์น 1:9) การยกโทษของเราไม่ควรมีขอบเขต เหมือนอย่างที่การยกโทษของพระเจ้าซึ่งไม่มีขอบเขตเช่นกัน (ลูกา 17:3-4)





ฉันจะยกโทษให้คนที่ทำร้ายฉันได้อย่างไร?

การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณคืออะไร?




คำถาม: การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณคืออะไร?

คำตอบ:
การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณคือขบวนการที่ทำให้เราเป็นเหมือนพระเยซูมากยิ่งขึ้น เมื่อเรามีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเริ่มขบวนการในการที่จะทำให้เราเป็นเหมือนพระเยซูมากยิ่งขึ้น และจะทรงเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นเหมือนพระองค์ หนังสือ 2 เปโตร 1:3-8 อธิบายการเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอย่างดี ข้อพระคัมภีร์ตอนนี้บอกเราว่า ด้วยเห็นแล้วว่า ฤทธิ์เดชของพระองค์ “...ได้ให้สิ่งสารพัดแก่เรา ที่จะให้มีชีวิตและมีธรรมโดยรู้จักพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกเราด้วยพระสิริและความล้ำเลิศของพระองค์ พระองค์จึงได้ทรงประทานพระสัญญาอันประเสริฐและใหญ่ยิ่งแก่เรา เพื่อว่าด้วยเหตุเหล่านี้ ท่านทั้งหลายจะพ้นจากความเสื่อมโทรม ที่มีอยู่ในโลกนี้เพราะตัณหา และจะได้รับส่วนในสภาพของพระองค์ เพราะเหตุนี้เองท่านจงอุตส่าห์จนสุดกำลังที่จะเอาคุณธรรมเพิ่มความเชื่อ เอาความรู้เพิ่มคุณธรรม เอาความเหนี่ยวรั้งตนเพิ่มความรู้ เอาขันติเพิ่มความเหนี่ยวรั้งตน และเอาธรรมเพิ่มขันติ เอาความรักฉันพี่น้องเพิ่มธรรม และเอาความรักคนทั่วไปเพิ่มความรักฉันพี่น้อง ถ้าท่านทั้งหลายเพียบพร้อมด้วยของประทานเหล่านี้แล้ว ก็จะกระทำให้ท่านเกิดประโยชน์และเกิดผลที่ได้ซาบซึ้งในพระเยซูคริสตเจ้าของเรา”

มีรายการในหนังสือกาลาเทีย 5:19-23 อยู่สองรายการ หนังสือกาลาเทีย 5:19-21 ให้รายการเกี่ยวกับ “การงานของเนื้อหนัง” เอาไว้ นี่เป็นความประพฤติก่อนที่เราจะวางใจในพระคริสต์สำหรับความรอดของเรา การงานของเนื้อหนังคือสิ่งที่เราจะต้องสารภาพ, กลับใจใหม่, และมีชัยเหนือมันโดยความช่วยเหลือของพระเจ้า เมือเราโตฝ่ายวิญญาณมากขึ้น “การงานของเนื้อหนัง” ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ รายการที่สองคือรายการเกี่ยวกับ “ผลของพระวิญญาณ” (กาลาเทีย 5:22-23) นี่คือสิ่งที่เราควรประพฤติหลังจากที่ได้รับความรอดในพระเยซูคริสต์แล้ว การแสดงให้เห็นว่าเรามีการเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณ คือ การที่เรามีผลของพระวิญญาณมากขึ้นในชีวิตของเราผู้เชื่อ

เมื่อเราได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่อันเป็นผลมาจากความรอดที่เราได้รับ การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณก็เริ่มขึ้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงอยู่ในเรา (ยอห์น 14:16-17) เราเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาใหม่ (2 โครินธ์ 5:17) สิ่งเก่า ๆ ในตัวเราถูกแทนโดยสิ่งใหม่ ๆ (โรมบทที่ 6-7) การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณเป็นขบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปตลอดชีวิตในขณะที่เราศึกษาและนำพระวจนะของพระเจ้ามาใช้ (2 ทิโมธี 3:16-17) และเดินในพระวิญญาณ (กาลาเทีย 5:16-26) ในขณะที่เราแสวงหาการเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณ เราสามารถขอจากพระเจ้าได้ เราสามารถขอสติปัญญาจากพระองค์ว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เราโตฝ่ายวิญญาณทางด้านไหน เราสามารถขอพระเจ้าให้ทรงเพิ่มความเชื่อและความรู้เกี่ยวกับพระองค์ให้กับเราได้ พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะให้เราโตฝ่ายวิญญาณ พระองค์ทรงให้ทุกอย่างที่เราต้องการเพื่อที่เราจะได้โตฝ่ายวิญญาณ โดยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราสามารถเอาชนะความบาปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นเหมือนองค์พระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ





การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณคืออะไร?

พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสงครามฝ่ายวิญญาณว่าอย่างไร?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสงครามฝ่ายวิญญาณว่าอย่างไร?

คำตอบ:
ในเบื้องต้นนั้นมีความผิดพลาดอยู่สองประการเมื่อพูดถึงสงครามฝ่ายวิญญาณ นั่นคือ การเน้นเรื่องนี้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป บางคนโทษว่าความบาปทุกชนิด, การขัดแย้งทุกประเภท และปัญหาทุกปัญหามาจากมารซาตาน และจำเป็นที่จะต้องถูกขับออกไป บางคนไม่สนใจเรื่องฝ่ายวิญญาณและความจริงที่ว่าพระคัมภีร์สอนเราว่าสงครามของเราเป็นสงครามฝ่ายวิญญาณเลย กุญแจสำคัญที่สามารถช่วยให้เราประสบผลสำเร็จทางด้านสงครามฝ่ายวิญญาณก็คือการหาความสมดุลจากพระคัมภีร์ให้เจอ ในบางครั้งพระเยซูทรงขับผีมารวิญญาณชั่วออกจากผู้คน แต่ในบางครั้งพระองค์ก็ทรงรักษาโรคโดยไม่ได้เอ่ยถึงผีมารวิญญาณชั่วเลย อัครทูตเปาโลสั่งให้คริสเตียนต่อสู้กับความบาปที่อยู่ในตัวพวกเขา (โรม 6) และต่อสู้กับสิ่งที่ชั่วร้าย (เอเฟซัส 6:10-18)

หนังสือเอเฟซัส 6:11-12 กล่าวว่า “จงสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า เพื่อจะต่อต้านยุทธอุบายของพญามารได้ เพราะว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด แต่ต่อสู้กับเทพผู้ครอง ศักดิเทพ เทพผู้ครองพิภพในโมหะความมืดแห่งโลกนี้ ต่อสู้กับเหล่าวิญญาณที่ชั่วในสถานฟ้าอากาศ” ข้อพระคัมภีร์ตอนนี้สอนความจริงบางอย่างที่สำคัญ นั่นคือ 1. เราเข้มแข็งได้ภายใต้ฤทธิอำนาจของพระเจ้าเท่านั้น 2. สิ่งที่ปกป้องเราไว้คือยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า 3. สงครามของเราเป็นสงครามกับพลังแห่งความชั่วร้ายฝ่ายวิญญาณในโลกนี้

1. ตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้มาจากอัครเทวทูตอธิบดีมีคาเอลในหนังสือยูดาห์ข้อ 9 อัครเทวทูตอธิบดีมีคาเอล, ซึ่งน่าจะเป็นทูตสวรรค์ที่มีฤทธานุภาพมากที่สุดในหมู่ทูตสวรรค์ด้วยกัน, ยังไม่บังอาจห้ามซาตานด้วยฤทธิ์เดชของท่านเอง แต่กล่าวว่า “ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงห้ามเจ้าเถิด!” หนังสือวิวรณ์ 12:7-8 ได้บันทึกเกี่ยวกับยุคสุดท้ายว่า อัครเทวทูตอธิบดีมีคาเอลจะมีชัยเหนือมารซาตาน แต่เมื่อมาถึงตอนที่ขัดแย้งกับมารซาตาน ท่านกล่าวห้ามมันในพระนามและสิทธิอำนาจของพระเจ้า ไม่ใช่ของท่านเอง เรา, ในฐานะผู้เชื่อ, มีสิทธิอำนาจเหนือมารซาตานและสมุนของมันก็โดยทางความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซูคริสต์เท่านั้น โดยพระนามของพระองค์เท่านั้นที่คำกล่าวห้ามของเรามีสิทธิอำนาจ

2. หนังสือเอเฟซัส 6:13-18 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงมอบให้กับเรา เราจะต้องยืนหยัดอย่างมั่นคงด้วย ก. เข็มขัดแห่งความจริง ข. ทับทรวงแห่งความชอบธรรม ค. ข่าวประเสริฐแห่งสันติสุข ง. โล่แห่งความเชื่อ จ. หมวกเหล็กแห่งความรอด ฉ. พระแสงแห่งพระวิญญาณ ช. การอธิษฐานวิงวอนโดยพระวิญญาณ ยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณเหล่านี้ช่วยเราในการทำสงครามฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร? เราจะต้องพูดความจริงโต้การโกหกของมารซาตาน เราจะต้องสงบอยู่ในความจริงที่ว่าเราเป็นคนชอบธรรมโดยการไถ่บาปของพระคริสต์เพื่อเรา เราจะต้องประกาศข่าวประเสริฐไม่ว่าเราจะได้รับการต่อต้านมากแค่ไหน เราจะต้องไม่โอนเอียงไปมาในความเชื่อ ไม่ว่าเราจะถูกโจมตีมากแค่ไหน การต่อสู้จนถึงที่สุดของเราคือความมั่นใจในความรอดของเรา และความจริงที่ว่าพลังฝ่ายวิญญาณไม่สามารถแย่งมันไปจากเราได้ อาวุธที่เราใช้เพื่อตั้งรับคือพระวจนะของพระเจ้า ไม่ใช่ความเห็นหรือความรู้สึกของเราเอง เราจะต้องทำตามอย่างพระเยซูด้วยการตระหนักว่าชัยชนะฝ่ายวิญญาณบางประการสามารถเกิดขึ้นได้โดยการอธิษฐานเท่านั้น

พระเยซูคือตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับเราเกี่ยวกับสงครามฝ่ายวิญญาณ จงดูว่าพระองค์ทรงจัดการกับการโจมตีซึ่งหน้าของมารซาตานอย่างไร: “ครั้งนั้นพระวิญญาณทรงนำพระเยซูเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อมารจะได้มาผจญ และพระองค์ทรงอดพระกระยาหารสี่สิบวันสี่สิบคืน ภายหลังพระองค์ก็ทรงอยากพระกระยาหาร ส่วนผู้ผจญมาหาพระองค์ ทูลว่า "ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นพระกระยาหาร" ฝ่ายพระองค์ตรัสตอบว่า "มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า `มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้ แต่บำรุงด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า'" แล้วมารก็นำพระองค์ไปยังนครบริสุทธิ์ และให้พระองค์ประทับที่ยอดหลังคาพระวิหาร แล้วทูลพระองค์ว่า "ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงโจนลงไปเถิด เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า `พระเจ้าจะรับสั่งให้เหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์รักษาท่าน และเหล่าทูตสวรรค์จะเอามือประคองชูท่านไว้ มิให้เท้าของท่านกระทบหิน'" พระเยซูจึงตรัสตอบว่า "พระคัมภีร์มีเขียนไว้อีกว่า `อย่าทดลององค์พระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน'" อีกครั้งหนึ่งมารได้นำพระองค์ขึ้นไปบนภูเขาอันสูงยิ่งนัก และได้แสดงบรรดาราชอาณาจักรในโลก ทั้งความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรเหล่านั้นให้พระองค์ทอดพระเนตร แล้วได้ทูลพระองค์ว่า "ถ้าท่านจะกราบลงนมัสการเรา เราจะให้สิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่าน" พระเยซูจึงตรัสตอบว่า "อ้ายซาตาน จงไปเสียให้พ้น เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า `จงกราบนมัสการพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว'" แล้วมารจึงละพระองค์ไป และมีเหล่าทูตสวรรค์มาปรนนิบัติพระองค์” (มัทธิว 4:1-11) วิธีที่ดีที่สุดที่จะเอาชนะมารซาตานคือวิธีที่พระเยซูทรงแสดงให้เราดูเป็นตัวอย่าง นั่นคือการยกข้อพระคัมภีร์ขึ้นมาอ้าง เพราะมารซาตานไม่สามารถรับดาบฝ่ายวิญญาณ, พระวจนะของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่, ได้

ต้วอย่างที่ดีที่ดีที่สุดเกี่ยวกับว่าเราไม่ควรทำทำสงครามฝ่ายวิญญาณอย่างไรมาจากบุตรชายเจ็ดคนของเสวา “แต่พวกยิวบางคน ที่เที่ยวไปเป็นหมอผีพยายามใช้พระนามของพระเยซูเจ้า ขับผีร้ายว่า "เราสั่งเจ้าโดยพระเยซูซึ่งเปาโลได้ประกาศนั้น" พวกยิวคนหนึ่งชื่อเสวาเป็นปุโรหิตใหญ่มีบุตรชายเจ็ดคนซึ่งได้ทำอย่างนั้น ฝ่ายผีร้ายจึงพูดกับเขาว่า "พระเยซู ข้าก็คุ้นเคย และเปาโล ข้าก็รู้จัก แต่พวกเจ้าเป็นผู้ใดเล่า" คนที่มีผีสิงนั้นจึงจึงกระโดดใส่คนเหล่านั้นและต่อสู้จนชนะเขาได้ เขาต้องหนีออกไปจากเรือนตัวเปล่าและมีบาดเจ็บ” (กิจการ 19:13-16) เรื่องนี้ปัญหาอยู่ที่ไหน? ปัญหาคือบุตรชายทั้งเจ็ดคนของเสวาใช้พระนามของพระเยซู เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับพระองค์เลย ดังนั้นคำสั่งของพวกเขาจึงไม่มีฤทธิอำนาจหรือสิทธิอำนาจบุตรชายทั้งเจ็ดคนของเสวาพึ่งกรรมวิธี แต่ไม่ได้พึ่งพระเยซู และไม่ได้ใช้พระวจนะของพระเจ้าในการทำสงครามฝ่ายวิญญาณของพวกเขา ผลก็คือพวกเขาได้รับความอับอายและบาดเจ็บ ขอให้เราเรียนรู้จากตัวอย่างที่ไม่ดีนี้ และทำสงครามฝ่ายวิญญาณตามที่พระคัมภีร์สอนไว้

สรุปว่ากุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการทำสงครามฝ่ายวิญญาณมีอะไรบ้าง? ประการแรก คือ เราพึ่งฤทธิอำนาจของพระเจ้า ไม่ใช่ความสามารถของเรา ประการที่สองเราขับในพระนามของพระเยซู ไม่ใช่โดยตัวเราเอง ประการที่สามเราปกป้องตัวเองด้วยยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า ประการที่สี่ เราทำสงครามด้วยดาบแห่งพระวิญญาณ – พระวจนะของพระเจ้า ท้ายที่สุด เราต้องจำไว้ว่าเมื่อเราทำสงครามฝ่ายวิญญาณกับมารซาตานและสมุนของมันนั้นไม่ใช่ว่าความบาปหรือปัญหาทุกชนิดคือผีมารซาตานที่จำเป็นจะต้องถูกขับออกไป “แต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ทรงได้รักเราทั้งหลาย” (โรม 8:37)





พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับสงครามฝ่ายวิญญาณว่าอย่างไร?

คริสเตียนจำเป็นต้องเชื่อฟังพระคัมภีร์เดิมหรือไม่?




คำถาม: คริสเตียนจำเป็นต้องเชื่อฟังพระคัมภีร์เดิมหรือไม่?

คำตอบ:
กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องนี้ คือการรู้ว่าพระคัมภีร์เดิมหรือพันธสัญญาเดิมนั้นพระเจ้าทรงมอบให้กับชนชาติอิสราเอล ไม่ใช่ให้กับคริสเตียนปัจจุบัน บัญญัติบางข้อมีขึ้นเพื่อให้ชาวอิสราเอลรู้ว่าจะเชื่อฟังพระเจ้าและทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยได้อย่างไร (ดังเช่นบัญญัติ 10 ประการ), บทบัญญัติบางเรื่องเป็นการแสดงให้พวกเขาเห็นว่าจะนมัสการพระเจ้าอย่างไร (ดังเช่นระบบการถวายเครื่องสักการบูชาพระองค์), บางเรื่องเป็นเพียงการทำให้ชาวอิสราเอลแตกต่างจากชนชาติอื่น (เช่นกฎเรื่องอาหารการกิน และเครื่องนุ่งห่ม) ไม่มีบทบัญญัติใดในพระคัมภีร์เดิมที่มาบังคับใช้กับเราในปัจจุบัน เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงยอมวายพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์ทรงกระทำให้กฎบัญญัติในพระคัมภีร์เดิมนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ( โรม 10:4; กาลาเทีย 3:23-25; เอเฟซัส 2:15)

พวกเราจึงได้อยู่ภายใต้พระคริสต์แทนการอยู่ภายใต้พันธสัญญาเดิม ( กาลาเทีย 6:2) ซึ่งหมายถึง “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อใหญ่และข้อต้น ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งสิ้น ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” ( มัทธิว 22:37-40) ถ้าเรากระทำตาม เราก็ได้กระทำตามสิ่งที่พระคริสต์ทรงประสงค์ให้เราทำแล้ว “เพราะนี่แหละเป็นความรักต่อพระเจ้า คือที่เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์นั้นไม่เป็นภาระ” ( 1 ยอห์น 5:3) ตามหลักการแล้ว บัญญัติ 10 ประการไม่ได้นำมาใช้กับคริสเตียน แต่อย่างไรก็ตาม ในบัญญัตินั้นมีอยู่ 9 ข้อที่ได้มีการกล่าวซ้ำในพระคัมภีร์ใหม่ หรือพันธสัญญาใหม่ (ทุกข้อยกเว้นข้อที่ว่าให้นับถือวันซะบาโต) ถ้าเรารักพระเจ้า เราก็จะไม่ไปบูชาพระเจ้าอื่น หรือรูปเคารพอื่น และถ้าเรารักเพื่อนบ้าน เราก็จะไม่ไปฆ่าเขา หรือโกหกเขา หรือล่วงประเวณีเขา หรือไปเอาของของเขามาเป็นของตน ดังนั้นเราจึงไม่ได้อยู่ภายใต้บัญญัติเดิม กฎของคริสเตียนปัจจุบันคือ เราต้องรักพระเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเรา ถ้าเราปฏิบัติตามสองข้อนี้อย่างสัตย์ซื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะถูกต้องเอง





คริสเตียนจำเป็นต้องเชื่อฟังพระคัมภีร์เดิมหรือไม่?

ฉันจะรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับชีวิตของฉันได้อย่างไร? พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการรู้น้ำพระทัยพระเจ้าอย่างไร?




คำถาม: ฉันจะรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับชีวิตของฉันได้อย่างไร? พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการรู้น้ำพระทัยพระเจ้าอย่างไร?

คำตอบ:
มีกุญแจสองดอกที่จะทำให้ทราบถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าสำหรับแต่ละสถานการณ์คือ (1) ให้เราแน่ใจว่าสิ่งที่เราทูลขอต่อพระองค์ หรือสิ่งที่เราคิดจะทำนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นข้อห้ามในพระคัมภีร์ และ (2) ให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราทูลขอต่อพระองค์ หรือสิ่งที่เราคิดจะทำนั้นเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระองค์ และจะทำให้เราเจริญขึ้นในฝ่ายจิตวิญญาณ ถ้าคุณทำตามสองข้อนี้แล้วแต่พระเจ้ายังไม่ได้ทรงประทานสิ่งที่คุณขอจากพระองค์ – นั่นหมายความว่าสิ่งที่คุณขอนั้นไม่ใช่น้ำพระทัยของพระองค์ หรือ คุณอาจจำต้องรอนานขึ้นอีกนิด เพื่อจะได้สิ่งที่คุณขอนั้นมา การรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าในบางครั้งนั้นเป็นเรื่องยาก คนเรามักต้องการให้พระเจ้าบอกเราตรง ๆ ว่าจะต้องทำอะไร–จะทำงานที่ใดดี – จะอยู่ที่ไหนดี จะแต่งงานกับใคร ฯลฯ ใน โรม 12:2 บอกเราว่า “อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบน้ำพระทัย ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัยและอะไรดียอดเยี่ยม”

พระเจ้าอาจจะไม่ทรงตรัสกับเราตรงๆบ้าง พระองค์ทรงให้เรามีความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มีเพียงการตัดสินใจเรื่องเดียว ที่พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้เราทำ คือการตัดสินใจกระทำบาป หรือทำสิ่งที่ขัดต่อน้ำพระทัยพระองค์ พระเจ้าทรงต้องการให้เราเลือกทางที่เป็นตามน้ำพระทัยของพระองค์ ดังนั้น คุณควรจะทราบถึงน้ำพระทัยของพระองค์ได้อย่างไร? ก็เมื่อคุณได้เดินติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด และปรารถนาที่จะทำให้ชีวิตของคุณเป็นที่พอพระทัยของพระองค์ – พระองค์จะทรงใส่ความปรารถนาของพระองค์ลงไปในจิตใจของคุณ กุญแจสำคัญคือหัวใจ... หัวใจที่ต้องการเชื่อฟังน้ำพระทัยของพระเจ้า – ไม่ใช่ความต้องการของตัวคุณเอง “จงปีติยินดีในพระเจ้า และพระองค์จะทรงประทานตามใจปรารถนาของท่าน” ( สดุดี 37:4) ถ้าสิ่งนั้นไม่ขัดกับพระคัมภีร์ และเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อจิตวิญญาณของคุณ นั่นหมายความว่า พระคัมภีร์ “อนุญาต” ให้คุณตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งนั้น ๆ และทำตามหัวใจคุณได้





ฉันจะรู้ถึงน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับชีวิตของฉันได้อย่างไร? พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการรู้น้ำพระทัยพระเจ้าอย่างไร?

ฉันจะเอาชนะความบาปในชีวิตคริสเตียนของฉันได้อย่างไร?




คำถาม: ฉันจะเอาชนะความบาปในชีวิตคริสเตียนของฉันได้อย่างไร?

คำตอบ:
พระคัมภีร์พูดถึงเครื่องมือดังต่อไปนี้ ที่เราจะใช้เพื่อเอาชนะความบาปของเราได้ดังต่อไปนี้:

(1) พระวิญญาณบริสุทธิ์ – ของขวัญอย่างหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้เรา (คริสตจักรของพระองค์) เพื่อให้มีชัยชนะในการใช้ชีวิตคริสเตียนคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงเปรียบเทียบผลทางฝ่ายเนื้อหนังกับผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้ใน BB. กาลาเทีย 5:16-25 ซึ่งในบทนั้น เราได้ถูกเรียกให้ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ ผู้เชื่อทุกคนมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ด้วยแล้ว แต่ในบทนี้ได้บอกว่า เราจำเป็นต้องดำเนินตามพระวิญญาณ ให้พระองค์ครอบครองชีวิตเรา นี่หมายความว่าให้เราเลือกที่จะ “สวมรองเท้าหนัง” ให้การทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของเรามากกว่าที่จะเลือกตามฝ่ายเนื้อหนัง

ความแตกต่างที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถกระทำในชีวิตของผู้เชื่อได้ก็คือ การสำแดงให้เห็นถึงชีวิตของ เปโตร ซึ่งก่อนที่ชีวิตเปโตรจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาปฏิเสธพระเยซูถึงสามครั้ง หลังจากที่เขาบอกว่าเขาจะติดตามองค์พระคริสต์จนสิ้นชีวิต แต่หลังจากที่ชีวิตเขาได้รับพระวิญญาณแล้ว เขาได้พูดต่อสาธารณชนชาติยิวอย่างเปิดเผย และอย่างเข้มแข็งถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด

คนที่ดำเนินตามพระวิญญาณ และพยายามที่จะไม่ “ปิด” การทรงนำของพระวิญญาณ (“ดับพระวิญญาณ”) ตามที่เขียนไว้ใน (1 เธสะโลนิกา 5:19) และแสวงหาการทรงสถิตอยู่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ( เอเฟซัส 5:18-21) คนคนหนึ่งจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร? อันดับแรกคือ เป็นการทรงเลือกของพระเจ้า แม้กระทั่งในพันธสัญญาเดิม พระองค์ทรงเลือกเฉพาะคน และเฉพาะเหตุการณ์ในพันธสัญญาเดิมเพื่อกระทำให้คนที่พระองค์ทรงเลือกนั้นทำกิจการของพระองค์ได้สำเร็จ ( ปฐมกาล 41:38; อพยพ 31:3; เลวีนิติ 24:2; 1 ซามูเอล 10:10; ฯลฯ) ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีเหตุการณ์ที่กล่าวถึงใน เอเฟซัส 5:18-21 และโคโลสี 3:16 ว่าพระเจ้าทรงเจิมพระวิญญาณให้กับคนที่เติมชีวิตของเขาด้วยพระคำของพระเจ้า ซึ่งมีหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่ว่าผลของการเจิมพระวิญญาณที่ได้กล่าวถึงในข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ นั้นเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งนี้จึงได้นำเรามาสู่แหล่งต่อไปที่จะเอาชนะความบาปได้

(2) พระวจนะคำของพระเจ้า - 2 ทิโมธี 3:16-17 กล่าวว่า พระเจ้าได้ทรงประทานพระวจนะคำของพระองค์เพื่อให้เรามีทิศทางในการทำการดี พระวจนะคำของพระองค์นั้นสอนให้เราทราบว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ให้เชื่อในสิ่งใด และยังสำแดงให้เราทราบว่าเมื่อเราเดินหลงทาง นอกจากนี้พระวจนะคำของพระองค์ยังช่วยให้เรากลับมาเดินในทางที่ถูกต้อง และให้เราดำเนินอยู่ในเส้นทางนั้นต่อไป เช่นที่กล่าวไว้ในพระธรรม ฮีบรู 4:12 กล่าวว่า พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุกระทั่งจิตและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย ในพระธรรมสดุดีได้พูดถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพระวจนะคำของพระเจ้าไว้ใน สดุดี 119:9 ข้อ 11 ข้อ 105 และข้ออื่น ๆ โยชูวาได้รับการแจ้งว่า กุญแจสำคัญของความสำเร็จในการมีชัยชนะเหนือศัตรู (เปรียบกับการต่อสู้ฝ่ายจิตวิญญาณ) คือ ไม่ลืมพระวจนะคำของพระองค์ แต่ให้ใช้พระวจนะคำทุกวันทุกคืน เพื่อที่เขาจะได้พบและสังเกตุเห็นได้เมื่อเขาทำดังนั้น แม้กระทั่งเมื่อทำในสิ่งที่พระเจ้าทรงสั่งเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูไม่สมเหตุสมผลในทางการรบ แต่นี่คือกุญแจแห่งชัยชนะในการรบของเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดนแห่งพันธสัญญา

พระวจนะคำของพระเจ้า เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญไม่ใช่เพียงเล็กน้อย เราอาจนำพระคัมภีร์ไปโบสถ์เพื่อใช้ในพิธีนมัสการ เราอ่านบทเรียนจากพระคัมภีร์ประจำวัน หรืออ่านพระคัมภีร์วันละบท แต่เราไม่ได้จดจำไว้ ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่ได้สารภาพบาปที่พระวจนะคำของพระองค์แสดงให้เราเห็น หรือไม่ได้สรรเสริญพระเจ้าสำหรับพระพรที่พระวจนะคำของพระองค์สำแดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงประทานให้เราอย่างไร เมื่อเราพูดถึงพระคัมภีร์ หากเปรียบเป็นอาหาร เราไม่ควรละเลย หรือทานเพียงเล็กน้อย เราควรรับพระวจนะคำของพระองค์ให้มากเพียงพอที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ในฝ่ายจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการรับพระวจนะคำเวลาเราไปโบสถ์ (ควรรับเข้าไปให้มากพอที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อเป็นคริสเตียนที่เติบโตขึ้น) หรือหาโอกาศให้เราได้รับอาหารฝ่ายจิตวิญญาณบ่อยๆ และใคร่ครวญคิดอย่างลึกซึ้งเพื่อให้ฝ่ายจิตวิญญาณได้ย่อยอาหารจากพระวจนะคำมากขึ้น

เป็นเรื่องสำคัญหากคุณยังไม่เริ่มสร้างวินัยในการศึกษาความหมายของพระวจนะคำของพระเจ้า ให้เป็นชีวิตประจำวันของเราทุกวัน และเพื่อจะจดจำพระวจนะคำนั้นไว้เวลาที่คุณพบข้อความใดก็ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ดลใจให้เข้าถึงจิตใจคุณ ให้ทำอย่างนี้จนเป็นนิสัย เราขอแนะนำให้คุณเริ่มเขียนบันทึกประจำวัน (อาจจะพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ถ้าคุณพิมพ์ได้เร็วกว่าเขียน) หรือเขียนลงในสมุดบันทึก ฯลฯ ให้ฝึกเป็นนิสัยคุณจะได้ไม่ละเลยพระวจนะคำนั้นจนกว่าคุณจะได้บันทึกสิ่งที่คุณได้จากพระวจนะคำนั้น ๆ ข้าพเจ้ามักจะบันทึกคำอธิษฐานที่ขอให้พระองค์ทรงช่วยเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสกับข้าพเจ้า พระคัมภีร์จึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ใช้นำในชีวิตของพวกเราและชีวิตของผู้อื่น ( เอเฟซัส 6:17) และเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและส่วนประกอบสำคัญของอาวุธที่พระเจ้าทรงประทานให้เราเพื่อต่อสู้ในฝ่ายจิตวิญญาณ ( เอเฟซัส 6:12-18)!

(3) การอธิษฐาน – นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้ เป็นอีกอย่างที่คริสเตียนมักจะเพียงแค่พูดออกไป แต่ไม่ได้ใช้อย่างเหมาะสม เรามีประชุมการอธิษฐานและเวลาอธิษฐาน ฯลฯ แต่เราแสวงหาประโยชน์จากสิ่งนี้เหมือนอย่างที่คริสตจักรในสมัยแรกได้เริ่มต้น ตัวอย่าง ( กิจการ 3:1; 4:31; 6:4; 13:1-3, ฯลฯ) อัครสาวกเปาโลได้กล่าวย้ำอยู่เสมอว่า ท่านได้อธิษฐานเผื่อผู้คนที่ท่านต้องดูแลอย่างไร แต่เรากลับไม่ได้ใช้สิ่งที่เรามีนี้ พระเจ้าได้ให้คำสัญญาอันแสนวิเศษเกี่ยวกับการอธิษฐาน และอีกครั้งที่เปาโลได้กล่าวเรื่องการอธิษฐานในข้อความของท่านเรื่องการเตรียมการสู้รบฝ่ายจิตวิญญาณ ( เอเฟซัส 6:18)!

การอธิษฐานมีความสำคัญมากเพียงใด? เมื่อคุณมองดูชีวิตของเปโตรอีกครั้ง คุณจะได้พบกับพระวจนะคำของพระเจ้าที่ตรัสกับเปโตรในสวนเก็ธเซมาเนก่อนเปโตรจะปฏิเสธพระเยซู ซึ่งณ.ที่นั่น ในขณะที่พระเยซูกำลังอธิษฐานอยู่ เปโตรก็กำลังนอนหลับ พระเยซูทรงปลุกเขาให้ตื่นขึ้นและตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงเฝ้าระวังและอธิษฐาน เพื่อท่านจะไม่ต้องถูกทดลอง จิตวิญญาณพร้อมแล้วก็จริง แต่กายยังอ่อนกำลัง" ( มัทธิว 26:41) คุณก็เช่นกัน เหมือนเช่นเปโตร ต้องการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่เสาะหาความเข้มแข็ง เราต้องทำตามคำตักเตือนของพระเจ้าในการแสวงหา จดจ่อ และขอ.... อย่าหยุด แล้วพระองค์จะทรงประทานกำลังความเข้มแข็งตามที่เราต้องการ ( มัทธิว 7:7) แต่เราจำเป็นต้องให้มากกว่าการที่พูดออกไป

ข้าพเจ้าไม่ได้พูดว่า การอธิษฐานเป็นเวทย์มนต์ ไม่ใช่เลย พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่นัก การอธิษฐานเป็นเพียงการยอมรับข้อจำกัดของเราและยอมรับฤทธิ์อำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และให้เราหันมาหาพระองค์เพื่อขอความเข้มแข็งให้เราทำในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้เราทำ (ไม่ใช่สิ่งที่ เรา ต้องการทำเอง) (1 ยอห์น 5:14-15)

(4) คริสตจักร – สำหรับเรื่องสุดท้ายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่มีแนวโน้มว่าเราจะละเลยอยู่เสมอ เมื่อพระเยซูทรงสั่งให้เหล่าสาวกออกประกาศ พระองค์ทรงส่งพวกเขาออกไปเป็นคู่ (มัทธิว 10:1) เมื่อเราอ่านเรื่องการเดินทางประกาศในพระคัมภีร์กิจการ พวกเขาไม่ได้ออกไปทีละคน แต่ออกไปเป็นกลุ่มสองคน หรือมากกว่านั้น พระเยซูตรัสว่า หากมีคนสองหรือสามคนรวมตัวกันในนามของพระองค์ พระองค์จะทรงสถิตอยู่ท่ามกลางพวกเขา ( มัทธิว 18:20) พระองค์ทรงสั่งให้เราอย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่ แต่ให้ใช้เวลานั้นปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี ( ฮีบรู 10:24-25) พระองค์ทรงบอกให้เราสารภาพผิดต่อกันและกัน ( ยากอบ 5:16) ในข้อเขียนอันเปี่ยมด้วยปัญญาในพระคัมภีร์เดิม บอกว่า ให้เราเป็นเหมือนเหล็กลับเหล็กได้ คนหนึ่งก็ลับเพื่อนของตนได้ ( สุภาษิต 27:17) “เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้” ยิ่งจำนวนมากยิ่งเข้มแข็งขึ้น ( ปัญญาจารย์ 4:11-12)

มีบางคนที่ข้าพเจ้ารู้จักได้พบพี่น้องในพระคริสต์ ซึ่งรวมตัวกันทางโทรศัพท์ หรือพบปะกันส่วนตัว หรือแบ่งปันถึงสิ่งที่พวกเขากระทำกันในการดำเนินชีวิตคริสเตียนว่า พวกเขาได้ดิ้นรนต่อสู้มาอย่างไร ฯลฯ และให้คำมั่นที่จะอธิษฐานเผื่อซึ่งกันและกัน และพยุงกันและกันในการมีสายสัมพันธ์ที่ดำเนินตามพระคำของพระเจ้า ฯลฯ

บางครั้ง การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องอย่างช้า ๆ และพระเจ้าได้ทรงสัญญากับเราไว้ว่า เมื่อเราใช้ทุกเรื่องที่พระองค์ทรงประทานให้ พระองค์จะทรงนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ขีวิตเรา หากเราแสวงหา เราก็จะรู้ว่าพระองค์ทรงสัตย์ซื่อกับพระสัญญาของพระองค์เสมอ!





ฉันจะเอาชนะความบาปในชีวิตคริสเตียนของฉันได้อย่างไร?

พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการถวายสิบลดไว้ว่าอย่างไร?




คำถาม: พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการถวายสิบลดไว้ว่าอย่างไร?

คำตอบ:
การถวายสิบลดเป็นเรื่องที่คริสเตียนหลายคนมีปัญหากับมัน ในหลาย ๆ คริสตจักร การถวายสิบลดถูกเน้นมากเกินไป ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนหลายคนปฏิเสธไม่ยอมทำตามพระคัมภีร์เกี่ยวกับการถวายให้กับพระเจ้า การถวายสิบลด/การถวาย ควรจะเป็นการกระทำด้วยความชื่นชมยินดี, และเป็นพระพร แต่เป็นที่น่าเสียใจว่ามันเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อยในคริสตจักรในปัจจุบัน

การถวายสิบลดเป็นแนวความคิดที่มาจากพระคัมภีร์เดิม การถวายสิบลดเป็นกฎข้อบังคับสำหรับคนอิสราเอลทุกคน คนอิสราเอลจะต้องถวาย 10% ของทุกสิ่งที่เขาหามาได้และเพาะปลูกได้ไว้ที่พลับพลา/พระวิหาร (เลวีนิติ 27:30; กันดารวิถี 18:26; เฉลยธรรมบัญญัติ 14:24; 2 พงศ์ศาวดาร 31:5) บางคนเข้าใจว่าการถวายทศางค์ในพันธสัญญาเดิมเปรียบเสมือนการเสียภาษี เพื่อให้ปุโรหิตและคนเลวีได้มีกินมีใช้ ในพันธสัญญาใหม่ไม่มีที่ไหนสั่งหรือแม้แต่แนะนำให้คริสเตียนยอมรับกฎแห่งการถวายสิบลดอย่างเป็นทางการ ท่านอาจารย์เปาโลบอกว่าผู้เชื่อควรแยกรายรับไว้ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนคริสตจักร (1 โครินธ์ 16:1-2).

ไม่มีที่ไหนในพันธสัญญาใหม่ที่บอกจำนวนเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่คริสเตียนจะต้องแยกไว้ แต่บอกว่าให้เป็นไป “ตามที่พระเจ้าได้ทรงให้ท่านจำเริญขึ้น” (1 โครินธ์ 16:2). คริสตจักรยกเอาตัวเลข 10% มาจากทศางค์ในพันธสัญญาเดิมแล้วนำมาประยุกต์ว่าเป็นจำนวน “ขั้นต่ำที่แนะนำ” สำหรับคริสเตียนในการถวาย อย่างไรก็ตามคริสเตียนไม่ควรมีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องถวายเสมอ เขาควรถวาย “ตามที่พระเจ้าได้ทรงให้ท่านจำเริญขึ้น” นี่หมายความว่า บางครั้งอาจมากกว่าจำนวนทศางค์ บางครั้งอาจน้อยกว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่ก้บความสามารถของเขาและความจำเป็นของคริสตจักร คริสเตียนทุกคนควรอธิษฐานขอสติปัญญาจากพระเจ้าว่าเขาควรถวายหรือไม่และ/หรือ เท่าไหร่ (ยากอบ 1:5) “ทุกคนจงให้ตามที่เขาได้คิดหมายไว้ในใจ มิใช่ให้ด้วยนึกเสียดาย มิใช่ให้ด้วยการฝืนใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี” (2 โครินธ์ 9:7).





พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการถวายสิบลดไว้ว่าอย่างไร?

การถืออดอาหารของคริสเตียน – พระคัมภีร์พูดไว้ว่าอย่างไร?




คำถาม: การถืออดอาหารของคริสเตียน – พระคัมภีร์พูดไว้ว่าอย่างไร?

คำตอบ:
พระคัมภีร์ไม่ได้สั่งให้คริสเตียนถืออดอาหาร การถืออดอาหารไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากคริสเตียน แต่ในเวลาเดียวกัน พระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าการถืออดอาหารคือสิ่งที่ดี, เกิดประโยชน์ และ เป็นสิ่งที่ควรทำ หนังสือกิจการมีบันทึกไว้ว่าผู้เชื่อถืออดอาหารก่อนที่พวกเขาจะทำการตัดสินใจเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่สำคัญ (กิจการ 13:4; 14:23) การถืออดอาหารและการอธิฐานมักจะมาคู่กันเสมอ (ลูกา 2:37; 5:33) บ่อยครั้งที่การถืออดอาหารจะเน้นไปที่การอดอาหาร แต่วัตถุประสงค์ของการถืออดอาหารควรเป็นการละสายตาออกไปจากสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้และจดจ่ออยู่ที่พระเจ้าเท่านั้น การถืออดอาหารคือการแสดงให้พระเจ้าและตัวท่านเองเห็นว่าท่านเอาจริงเอาจังกับความสัมพันธ์ของท่านกับพระองค์ การถืออดอาหารช่วยให้ท่านมีมุมมองใหม่และช่วยฟื้นฟูความไว้วางใจของท่านในพระเจ้าเสียใหม่ด้วย

แม้ว่าการถืออดในพระคัมภีร์โดยส่วนใหญ่จะเป็นการถืออดอาหาร แต่มีการถืออดประเภทอื่น ๆ อีกเหมือนกัน อะไรก็ตามที่ท่านสามารถละเว้นได้ชั่วคราวเพื่อจดจ่ออยู่ที่พระเจ้าถือเป็นการถืออดได้เหมือนกัน (1 โครินธ์ 7:1-5) การถืออดควรมีกำหนด โดยเฉพาะการถืออดอาหาร การอดอาหารนานเกินไปไม่ดีต่อร่างกาย การถืออดอาหารไม่ควรเป็นการทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการจดจ่ออยู่ที่พระเจ้า การถืออดอาหารไม่ใช่การ “ลดความอ้วน” เช่นกัน จงอย่าถืออดเพราะต้องการลดน้ำหนัก แต่จงให้การถืออดอาหารเป็นการที่ท่านจะมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้ลึกยิ่งขึ้น ใช่แล้ว ใคร ๆ ก็ถืออดได้ บางคนอาจถืออดอาหารไม่ได้ (เช่นคนที่เป็นโรคเบาหวาน) แต่ทุกคนสามารถละเว้นอระไรบางอย่างเพื่อที่จะจดจ่ออยู่กับพระเจ้าได้

โดยการละสายตาของเราออกจากสิ่งของในโลกนี้ มันจะทำให้เราจดจ่ออยู่ที่พระคริสต์ได้ดีขึ้น การถืออดอาหารไม่ใช่วิธีที่จะให้พระเจ้าทรงทำตามใจเรา แต่การถืออดอาหารเป็นการเปลี่ยนเรา, ไม่ใช่เปลี่ยนพระเจ้า การถืออดอาหารไม่ได้เป็นการแสดงว่าเราเคร่งฝ่ายวิญญาณมากกว่าคนอื่น การถืออดอาหารควรเป็นการกระทำด้วยใจถ่อมและด้วยท่าทีแห่งความชื่นชมยินดี หนังสือมัทธิว 6:16-18 กล่าวว่า “เมื่อท่านถืออดอาหาร อย่าทำหน้าเศร้าหมองเหมือนคนหน้าซื่อใจคด ด้วยเขาทำหน้าให้มอมแมม เพื่อจะให้คนเห็นว่าเขาถืออดอาหาร เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้บำเหน็จของเขาแล้ว ฝ่ายท่านเมื่อถืออดอาหาร จงล้างหน้าและเอาน้ำมันใส่ศรีษะ เพื่อคนจะไม่ได้รู้ว่าถืออดอาหาร แต่ให้ปรากฏแก่พระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในที่ลี้ลับ และพระบิดาของท่าน ผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับจะทรงโปรดประทานบำเหน็จแก่ท่าน”





การถืออดอาหารของคริสเตียน – พระคัมภีร์พูดไว้ว่าอย่างไร?

ฉันจะประกาศกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวอย่างไรโดยไม่ทำให้เขาโกรธหรือหนีไปหมด?




คำถาม: ฉันจะประกาศกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวอย่างไรโดยไม่ทำให้เขาโกรธหรือหนีไปหมด?

คำตอบ:
คริสเตียนทุกคนมีสมาชิกในครอบครัว, เพื่อน, เพื่อนที่ทำงาน หรือคนรู้จักที่ไม่ใช่คริสเตียนกันทั้งนั้น การแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนอื่นเป็นเรื่องยากเสมอ แต่การแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนใกล้ตัวยิ่งยากมากขึ้น พระคัมภีร์บอกเราว่าคนบางคนจะไม่พอใจเมื่อได้ยินพระกิตติคุณ (ลูกา 12:51-53) ปัญหาจะมีมากขึ้นเมื่อเราประกาศกับคนที่เราสนิทสนมด้วย แต่เราถูกสั่งให้แบ่งปันพระกิตติคุณ – โดยไม่มีข้อแก้ต้ว (มัทธิว 28:19-20; กิจการ 1:8; 1 เปโตร 3:15)

แล้วเราจะประกาศกับคนในครอบครัว, เพื่อนร่วมงาน และ/หรือคนรู้จักได้อย่างไร? ที่สำคัญที่สุดที่เราจะทำได้คืออธิษฐานเผื่อพวกเขา ดังนั้นขอให้ท่านอธิษฐานให้พระเจ้าเปลี่ยนใจและเปิดตาของพวกเขา (2 โครินธ์ 4:4) ให้เห็นถึงความจริงแห่งพระกิตติคุณ จงอธิษฐานให้พระเจ้าทรงทำให้เขาสำนึกถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเขาและความจำเป็นที่เขาจะต้องได้รับความรอดผ่านทางพระเยซูคริสต์ (ยอห์น 3:16) จงอธิษฐานขอสติปัญญาว่าท่านจะประกาศกับพวกเขาอย่างไร (ยากอบ 1:5) นอกจากจะอธิษฐานแล้วท่านยังจะต้องแสดงชีวิตคริสเตียนให้พวกเขาเห็นอีกด้วย เพื่อที่เขาจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของตัวท่านเอง (1 เปโตร 3:1-2) ดังที่ครั้งหนึ่งนักบุญฟรานซิส แห่งแอสซิซี่ได้กล่าวไว้ “จงประกาศพระกิตติคุณอยู่ตลอดเวลาและเมื่อจำเป็นให้ใช้คำพูด”

หลังจากที่ได้ทำทั้งหมดทุกอย่างแล้วท่านจะต้องกล้าเมื่อแบ่งปันพระกิตติคุณ จงประกาศข่าวประเสริฐแห่งความรอดโดยทางพระเยซูคริสต์ต่อเพื่อนและคนในครอบครัวของท่าน (โรม 10:9-10) จงพร้อมเสมอที่จะประกาศความเชื่อของท่าน (1 เปโตร 3:15) และในการประกาศจงทำด้วยความอ่อนสุภาพและให้เกียรติผู้ฟัง ท้ายที่สุดคือเราต้องมอบความรอดของคนที่เรารักให้ขึ้นอยู่กับพระเจ้า มันเป็นฤทธิ์อำนาจและพระคุณของพระเจ้าที่จะช่วยผู้คนให้รอด ไม่ใช่เป็นความพยายามของเรา ทางที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ก็คือการอธิษฐานเผื่อพวกเขา, เป็นพยานกับเขา และแสดงชีวิตคริสเตียนให้เขาเห็น!





ฉันจะประกาศกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวอย่างไรโดยไม่ทำให้เขาโกรธหรือหนีไปหมด?

ฉันจะรู้จักเสียงของพระเจ้าได้อย่างไร?




คำถาม: ฉันจะรู้จักเสียงของพระเจ้าได้อย่างไร?

คำตอบ:
มีคนมากมายนับไม่ถ้วนมีคำถามนี้อยู่ตลอดเวลา ซามูเอลได้ยินเสียงของพระเจ้า แต่ไม่รู้ว่านั่นคือเสียงของพระองค์จนกระทั่งเอลีสอนท่าน (1 ซามูเอล 3:1-10) กิเดโอนได้รับการเปิดเผยสำแดงจากพระเจ้าผ่านปรากฏการณ์ต่าง ๆ แต่เขาก็ยังสงสัยจนกระทั่งต้องขอหมายสำคัญ, ไม่ใช่ครั้งเดียว, แต่ถึงสามครั้ง (ผู้วินิจฉัย 6, โดยเฉพาะข้อ 17-22, 36-40)! เมื่อเราฟ้งเสียงของพระเจ้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์กำลังตรัสกับเรา? ประการแรกก็คือเรามีสิ่งที่กิเดโอนและซามูเอลไม่มี คือเรามีพระคัมภีร์ที่สมบูรณ์, ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า, เพื่อที่จะได้อ่าน, ศึกษาและใคร่ครวญ “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงแก้ไขคนให้ดี และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง” (2 ทิโมธี 3:16-17) ท่านมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องอะไรบางเรื่องโดยเฉพาะหรือเกี่ยวกับการตัดสินใจอะไรบางอย่างไหม? จงเปิดดูว่าพระคัมภีร์พูดว่าอย่างไร พระเจ้าจะไม่ทรงนำหรือชี้ทางให้ทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนและสัญญาไว้ในพระวจนะของพระองค์ (ทีตัส 1:2)

ประการที่สอง, การที่จะได้ยินเสียงของพระเจ้าเราต้องรู้ว่าพระเยซูตรัสว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา และเรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะนั้นตามเรา” (ยอห์น 10:27) ข้าพเจ้าสามารถโยงเรื่องนี้มาเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าสัตว์ที่เกี่ยวข้องเป็นวัวเท่านั้น คือว่า พ่อตาของข้าพเจ้ามีฟาร์มเลี้ยงวัวเล็ก ๆ อยู่แห่งหนึ่ง ทุกครั้งที่เราไปเยี่ยมท่าน ข้าพเจ้ารู้เลยว่าอย่างน้อยหนึ่งครั้งในวันนั้น ข้าพเจ้าจะได้ออกไปดูฝูงวัวกับท่าน เมื่อไปถึงที่ฟาร์มพ่อตาของข้าพเจ้าก็จะลงไปจากรถ เรียกเบา ๆ สองสามคำ เพียงไม่นานรถกระบะของเราก็จะถูกวัวล้อมไว้ พวกมันมาคอยกินหญ้าอย่างกระตือรือร้น แต่ถ้าข้าพเจ้าเปิดประตูรถลงไปบ้างทางด้านของข้าพเจ้า พวกมันก็ยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุ่งนา ทำไมจึงไม่เหมือนกัน? มันไม่เหมือนกันเพราะ พวกวัวเหล่านั้นได้เจอกับพ่อตาของข้าพเจ้าอย่างน้อยวันละครั้ง บางวันสองถึงสามครั้งก็มี เพราะพวกมันได้เจอกับคนที่เลี้ยงและดูแลมันทุกวัน พวกมันจึงไม่รู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่กับเขา แต่หากมีคนแปลกหน้าเข้ามามันก็จะรู้ทันที หากเราอยากจะรู้จักเสียงของพระเจ้า เราจะต้องใช้เวลาอยู่กับพระองค์ทุกวัน

จงแน่ใจว่าท่านใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ อธิษฐาน, ศึกษาพระคัมภีร์ และ ใคร่ครวญพระวจนะของพระองค์อย่างเงียบ ๆ เป็นประจำทุกวัน ยิ่งท่านมีเวลาใกล้ชิดกับพระองค์และพระวจนะของพระองค์มากแค่ไหน ท่านก็จะจำเสียงและการทรงนำของพระองค์ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น พนักงานธนาคารจะถูกฝึกให้รู้จักธนบัตรปลอมโดยถูกให้ศึกษาธนบัตรแท้อย่างละเอียด ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องง่ายเมื่อพวกเขาเจอธนบัตรปลอม เช่นเดียวกันเราก็จะต้องทำความคุ้นเคยกับพระวจนะของพระเจ้า, ที่ได้ตรัสกับเราไว้แล้ว, เพื่อว่าเมื่อพระองค์ตรัสหรือทรงนำเรา เราจะได้รู้ชัดเจนว่านั่นคือเสียงของพระองค์ พระเจ้าตรัสกับเราเพื่อที่เราจะได้เข้าใจความจริง แม้ว่าพระเจ้าจะสามารถตรัสด้วยเสียงของพระองค์ให้เราได้ยินได้ แต่ในเบื้องต้นพระองค์จะตรัสกับเราผ่านทางพระวจนะของพระองค์ บางครั้งพระองค์ก็จะตรัสผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เข้ามาในใจของเรา, หรือผ่านสถานการณ์บางอย่าง หรือผ่านคนอื่นก็ได้ เมื่อเรานำสิ่งที่ได้ยินมาตรวจสอบกับความจริงในข้อพระคัมภีร์ เราก็จะสามารถเรียนรู้ที่จะฟังเสียงของพระองค์ได้





ฉันจะรู้จักเสียงของพระเจ้าได้อย่างไร?